ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ | nutavootp@gmail.com
เทคโนยีดิจิทัลทำให้ บรัษัท Start up เติบโตเร็ว แต่ถ้าตามพฤติกรรมของผู้บริโภคไม่ทันก็จะล่มสลายเร็วเช่นกัน เนื่องจากสินทรัพย์ส่วนใหญ่ ไม่ใช่อาคาร ที่ดิน เครื่องจักร หรือสิทธิบัตร อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เคยให้ข้อสังเกตว่า ‘บริษัทหนึ่งจะเปราะบางมาก หากมูลค่าเพิ่มของสินค้าเกิดจากแนวคิดที่ไม่คำนึงถึงทรัพย์สินที่จับต้องได้ ความน่าเชื่อถือ และชื่อเสียงอาจทำให้ธุรกิจหายไปในชั่วข้ามคืน’ ถ้าดูอายุเฉลี่ยของบริษัทใน S&P 500 ช่วงปี ค.ศ. 1960 คือ 60 ปี และลดลงเป็น 35 ปี ในปี ค.ศ. 1980 และคาดว่าหลังปี ค.ศ. 2020 อายุเฉลี่ยจะเหลือน้อยกว่า 20 ปี
ธุรกิจจะมีอายุยืนยาวเกิน 100 ปี เป็นเรื่องยาก ส่วนใหญ่จะเป็นกิจการที่มีกระบวนการไม่ซับซ้อนไม่มีการเปลียนแปลงด้านนวัตกรรมมากนัก เช่น ร้านขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือผับ ที่เก่าแก่ที่สุดและยังดำเนินธุรกิจอยู่ คือ ร้าน Sean’s Bar-Ireland ก่อตั้งในปี ค.ศ. 900 อยู่ในประเทศไอร์แลนด์ หรือร้านอาหารที่เก่าแก่ที่สุดในยุโรป คือStiftskeller St. Peter ก่อตั้งในปี ค.ศ. 803 อยู่ในเมืองซาลส์บวร์ก ประเทศออสเตรีย ร้านเหล่านี้ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้โดยไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบจากเดิมมากนัก
บางกิจการที่ท้าทายการเปลี่ยนแปลง และสามารถยืนหยัดมาได้หลายชั่วอายุคน เช่น บริษัทก่อสร้าง คงโง กุมิ ก่อตั้งเมื่อปี 578 ที่โอซากะ ประเทศญึ่ปุ่น มีความเชี่ยวชาญในการก่อสร้างซ่อมแซมวัด ดำเนินกิจการต่อเนื่องโดยเจ้าของตระกูลเดียวยาวนานที่สุดในโลก ถึง 1,428 ปี ตัวอย่างผลงานสำคัญ เช่น การก่อสร้างปราสาทโอซากะ และวัดโฮริว จุดเด่นที่ทำให้มีอายุยืนนานคือ การอยู่ในอุตสาหกรรมศาสนาที่มีความผันผวนน้อย เมื่อการก่อสร้างอาคารวัดได้รับผลกระทบช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง บริษัทได้เปลี่ยนไปสร้างโลงศพแทน รวมทั้งรูปแบบการสืบทอดกิจการ ที่เลือกคนที่เก่งที่สุดของตระกูลขึ้นเป็นผู้นำโดยไม่เกี่ยงเพศ หรือลำดับอาวุโสซึ่งเป็นอีกกุญแจสำคัญที่สร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจเช่นกัน แต่ที่สุดแล้วก็หนีไม่พ้นการล่มสลายจากหนี้สินและถูกซื้อกิจการไปในปี ค.ศ. 2006 โดยบริษัทก่อสร้าง ทากามัตสึ
ธุรกิจเก่าแก่ที่มีกระบวนการผลิตซับซ้อนใช้เทคโนโลโลยีขั้นสูง และยังสามารถดำเนินกิจการต่อเนื่องยาวนานจนถึงปัจจุบันยังมีเหลือบ้าง ในเยอรมนี บริษัทที่มีอายุเกินร้อยปี มักจะเป็นธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนักด้านโลหะ เช่น บริษัท Achenbach Buschhütten ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1452 เริ่มต้นจากการผลิตเหล็ก ปัจจุบัน กลาย เป็นบริษัทชั้นนำของโลกด้านการผลิตแผ่นอลูมิเนียมฟอยล์ หรือ บริษัทผลิตมีด Zwilling ตราคนคู่ ก่อตั้งในปี ค.ศ. 1731 เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจครอบครัว ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทเหล่านี้ยังอยู่รอด คือ
1. ติดตามการเปลี่ยนแปลงที่จะกระทบต่อธุรกิจ โดยเฉพาะรสนิยมความต้องการในสินค้า หรือบริการ ของลูกค้า และให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ รวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว
2. เน้นการปรับเปลี่ยนด้วยวิธีการที่ไม่ใช่ Best Practices แต่ใช้วิธีการของตนเองที่สอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมองค์กร และจุดแข็งที่มีอยู่
3. จัดสวัสดิการให้กับพนักงานอย่างกว้างขวางครบวงจรตั้งแต่ที่พักอาศัย การจัดตั้งสหกรณ์ร้านค้าอุปโภคบริโภคประจำวันราคาถูก รวมทั้งให้สินเชื่อเงืนกู้ดอกเบี้ยต่ำ ทำให้พนักงานรู้สึกผูกพันแน่นแฟ้น เกิดความจงรักภักดี และรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร
4. ให้อิสระกับพนักงานในการค้นคว้า วิจัยทดลอง และทดสอบความคิดใหม่ๆ แม้จะไม่ใช่แกนสำคัญของธุรกิจ ตราบใดที่ผู้บริหารเห็นว่าการริเริ่มนั้น ไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือความเสี่ยงต่อธุรกิจของบริษัท
5. การถ่ายทอดความรู้ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่สั่งสม และผนึกรวมการถ่ายทอดองค์ความรู้กับชุมชนโดยรอบ เช่น เมือง Göttingen เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีด้านการวัด เพราะมีมหาวิทยาลัย Georg-August-Universität Göttingen เป็นศูนย์กลางแหล่งแลกเปลี่ยนความรู้ และบ่มเพาะนวัตกรรมที่ดี
6. บริหารธุรกิจโดยให้มีความเสี่ยงการเงินน้อยที่สุด ไม่เน้นกู้เงินจากสถาบันการเงิน แต่จะเก็บเงินทุนเอาไว้ เมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ก็จะใช้เงินทุนของตนเอง ซื้อกิจการที่ซวนเซล้มละลายในราคาถูก เป็นการขยายธุรกิจของตนเองออกไปให้ใหญ่โตขึ้น
อีกกลยุทธ์ที่ทำให้กิจการขนาดเล็กเติบโต มีความมั่นคงและมีอายุยืนยาวเกินร้อยปี คือการนำองค์กรเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นกลุ่มเครือบริษัท (Conglomerate) ขยายความหลากหลายไปยังธุรกิจย่อยที่เกี่ยวโยง และไม่เกี่ยวโยงกับธุรกิจเดิม บางองค์กรกลายเป็นผู้ผลิตสินค้าที่หลากหลาย เช่น บริษัทไฟเซอร์ อายุ 170 ปี เริ่มต้นจากธุรกิจยา และเวชภัณฑ์ รวมถึงเครื่องมือทางการแพทย์ ปัจจุบันขยายความร่วมมือสู่ธุรกิจสถานพยาบาล และวิทยาศาสตร์การแพทย์ เพื่อค้นหาวิธียืดอายุผู้คน บริษัท จีอี อายุ 127 ปี ปรับเปลี่ยนองค์กรจากเริ่มต้นผลิตหลอดไฟ มาสู่ธุรกิจการเงิน จนกระทั่งก้าวไปสู่ธุรกิจพลังงานทางเลือก เป็นต้นแบบขององค์กรที่เปลี่ยนผ่านธุรกิจที่หลาก หลาย ปัจจุบันบริษัทเหล่านี้ ได้สร้างคุณค่าที่จับต้องไม่ได้ คือ ชื่อแบรนด์ พลิกตัวเองจากผู้ผลิตมาสู่ผู้สร้างคุณค่าและความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะช่วยเกื้อหนุนความยั่งยืนให้กับองค์กรในอนาคต
ปี ค.ศ. 2020 ทุกธุรกิจยังคงต้องเผชิญกับความผันผวนจากปัจจัยต่างๆ ที่คาดการณ์ลำบาก ดังนั้นความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการเป็นสิ่งสำคัญเพื่อจะช่วยให้มองเห็น และสามารถแสวงหาโอกาสในการสร้างโมเดลทางธุรกิจใหม่ๆ เพื่อให้องค์กรสามารถอยู่รอด และมีความมั่นคง ตลอดไป
ฐานเศรษฐกิจ, 2562. “2020 เรา … ยังคงยืนเด่น โดยท้าทาย”, CEO Focus, the Disrupt, 14 พฤศจิกายน 2562, pp. 23
HR Society Magazine. “2020 เรา … ยังคงยืนเด่น โดยท้าทาย”, ธรรมนิติ.Vol. 17, No 204, หน้า 44 - 47,ธันวาคม 2562
Σχόλια