top of page

AI จะมาแย่งงานคน HR ได้หรือไม่

กระแสของการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์หรือ AI ที่ได้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด เห็นความฉลาดที่มันสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่คนเราจะทำได้ ทั้งทำได้มากกว่า เร็วกว่า แม่นยำกว่า ได้สร้างให้เกิดความรู้สึกทั้งความตื่นเต้นกับความมหัศจรรย์ของ AI และความวิตกกังวลว่า เราจะถูก AI แย่งงาน เกิดความกังวลไปทุกๆสาขาวิชาชีพ ไม่เว้นแม้เเต่งาน HR 

 

มีคำถามที่ถามกันมากว่า จากนี้ไปงาน HR จะถูก AI แย่งงานจนคนหมดโอกาสที่จะทำงาน HR ต่อไปแล้วใช่หรือไม่

 

ในมุมมองของผมเอง ผมมองเรื่องการเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องธรรมดา เพราะธรรมชาติของงานทุกงานที่มีอยู่ในโลกนี้จะมุ่งไปสู่การทำอย่างไรให้เร็วขึ้น สะดวกขึ้น แม่นยำขึ้น ช่วยการตัดสินใจได้ดีขึ้น และถึงที่สุด งานบางงานที่ไม่สามารถต้านทานการเปลี่ยนแปลง การปรับตัวไปในทิศทางนี้ได้ ก็ต้องยอมรับที่จะเสื่อมสลายไป

 

อย่างไรด็ตาม คำถามที่ว่า AI จะมาแย่งงานคนทำงาน HR ไปได้มากแค่ไหน ผมมองแยกตามธรรมชาติของงานดังนี้ครับ

 

หนึ่ง : งานจัดทำจัดวางกลยุทธ์ HR

 AI จะทำได้ในเรื่องการประเมินวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งในและนอก HR ที่เราเรียกว่า SWOT จะช่วยดึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการทำการวิเคราะห์ที่เรียกว่า Feed Information มาประมวลและแนะนำจะช่วยจับทิศทางแนวโน้มงาน HR ที่เป็น Trend ทั้งระยะใกล้และระยะไกลมาให้ข้อมูล มาแนะนำเราได้รวมทั้งช่วยจัดลำดับความสำคัญของกลยุทธ์ HR ได้ด้วย

 

แต่ผมไม่เชื่อว่า AI จะสามารถทำได้ในการนำกลยุทธ์ไปปรับใช้ ไปทำให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งจะต้องอาศัยภาวะผู้นำ ทักษะการบริหารดารจัดการ การติดตาม การโน้มน้าวผู้เกี่ยวข้อง ที่ AI ไม่สามารถทำได้

 

สอง : งานคัดเลือกสรรหาและสัมภาษณ์

AI จะแทนคนได้ดีในช่วงของการทำการคัดกรอง หรือ Screening ด้วยการประมวลผลที่เกี่ยวกับประวัติการทำงาน ความเหมาะ ความสอดคล้องกับงาน การค้นหาความเป็นตัวตนจาก Digital Foot Print คือ ร่องรอยที่ผู้สมัครเคยไปมีปฏิสัมพันธ์กับเรื่องต่างๆในโลกดิจิตอล และจะช่วยในการสัมภาษณ์ด้วยการกรองคำถามที่มีการออกแบบไว้ การจับภาษากายของผู้สมัครระหว่างสัมภาษณ์ รวมทั้ง ประมวลคำตอบที่สอดคล้องกับความต้องการของงาน

 

แต่ผมไม่เชื่อว่า AI จะทำแทนได้ในแง่ของการสัมภาษณ์ที่ต้องมี Human tounch การประสานเคมีของผู้สมัครกับองค์กร การสร้างบรรยากาศที่เชิงบวกในการเข้ามาสัมภาษณ์แทนคน HR ได้

 

สาม : งานออกแบบจัดทำโครงสร้างเงินเดือนและผลตอบแทน

AI ทำงานแทนคนได้ค่อนข้างมาก ตั้งแต่ช่วยรวบรวมประมวลข้อมูลที่ได้จากการสำรวจตลาด การวิเคราะห์การจ้างในตลาดแรงงาน แนวโน้มของตลาด ตัวเลขที่เป็นเส้นการแข่งขันได้ขององค์กรกับการจัางของตลาด การออกแบบโครงสร้างเงินเดือน การวิเคราะห์ความเป็นธรรมภายใน การจัดระดับงานที่เหมาะสมกับองค์กร การวิเคราะห์สวัสดิการและประโยชน์ตอบแทนในตลาด การออกแบบสวัสดิการที่จะรักษาพนักงานเอาไว้

 

แต่ผมไม่เชื่อว่า AI จะทำได้ในเรื่องการสำรวจค่าจ้างเงินเดือนที่ต้องใช้ความน่าเชื่อถือ การสื่อสารของคน การจัดวางคนลงระดับงาน การตัดสินใจในการจ่ายค่าจ้างให้กับคนบางกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ การตัดสินใจว่าจะให้หรือไม่ให้สวัสดิการประโยชน์ตอบแทน

 

สี่ : งานบริหารคนเก่ง ผู้ทดแทนตำแหน่ง (Talent & Succesor )

AI จะช่วยในการวิเคราะห์หา Talent ในตัวแบบที่องค์กรออกแบบไว้ด้วยข้อมูลที่รอบด้านรวมทั้งช่วยวางตัวตายตัวแทนหรือ Successor โดยปราศจากอคติ

 

แต่ผมไม่เชื่อว่า AI จะสามารถตัดสินใจเลือกคนที่เหมาะสมจริงๆที่มีปัจจัยอื่นๆที่นอกเหนือไปจากข้อมูลเชิงตัวเลข เช่น การเป็นคนไม่อยู่ที่ไหนแล้ววงแตก การเป็นคนที่คนอื่นอยากเข้าหา เป็นต้น เพราะท้ายสุด การวาง Succesor จะเป็นเรื่องของการใช้การตัดสินใจผู้บริหารประกอบที่จะมีความละเอียดอ่อนเกินกว่า AI จะทำได้

 

ห้า : งานพัฒนาบุคลากร

หากจะใช้ตัวแบบ 70-20-10 ในการพัฒนาคนเข้ามาจับ AI จะช่วยได้มากในส่วนที่เป็น 10 คือ การพัฒนาด้วยการเข้าหัองฝึกอบรม ในการวิเคราะห์ความจำเป็นในการฝึกอบรม (Training Need) ที่ครอบคลุมทั้งความจำเป็นองค์กร ความจำเป็นของงาน ความจำเป็นของแต่ละบุคคล รวมทั้งออกแบบการพัฒนาด้วยการเข้าเรียนในหลักสูตรทั้งบนแพลตฟอร์ม หลักสูตรในห้องเรียน หรือหลักสูตรในต่างประเทศ รวมทั้งจะช่วยในการประเมินผลการฝึกอบรมพร้อมให้ข้อแนะนำการพัฒนาเพิ่มเติมได้

       

แต่ AI จะไม่สามารถทำได้ในการพัฒนาส่วนที่เป็น 70-20 คือ การมอบหมายงานที่ท้าทาย การเป็นพี่เลี้ยง การเป็นโค้ช เพราะการพัฒนาด้วยแนวทางนี้จำเป็นต้องมีการเชื่อมความคิดความรู้สึกของมนุษย์ต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก

 

หก : งานแรงงานสัมพันธ์

AI จะช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลแนวโน้มการทำผิดวินัย การใช้บริการประโยชน์สวัสดิการเพื่อประเมินความชอบไม่ชอบ การวิเคราะห์พฤติกรรมของแต่ละกลุ่ม แต่ละ GEN การวิเคราะห์เรื่องแนวโน้มสุขภาวะของพนักงาน การตอบคำถามพนักงานด้วย Chat Bot

 

แต่ผมไม่เชื่อว่า AI จะแทนคนได้ในเรื่องการสอบสวนวินัยการลงโทษ การจัดกิจกรรมเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ๆที่น่าประทับใจให้กับพนักงานทั้งแบบจริงและแบบเสมือนจริง การให้คำปรึกษาความลำบากใจทุกร้อนใจแบบลงลึก

 

และสุดท้าย ไม่ว่า AI จะเก่งขึ้นมากแค่ไหน หน้าที่ของคน HR คือ ต้องติดตามแนวโน้มของเทคโนโลยีเหล่านี้ แล้วพัฒนาตัวเองให้รู้เท่าทัน ให้สามารถใช้ “AI” ก่อนที่ “AI” จะใช้เรา

 

เพราะไม่ใช่คน HR ที่กำลังไล่ล่า AI............แต่ AI ก็กำลังไล่ล่าคน HR ด้วยเช่นกัน

ดิลก ถือกล้า l 27 มีนาคม 2568


Comments


PMAT-Wonly.png

สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย

Personnel Management Association of Thailand

© 2020 by Personnel Management Association of Thailand   |   Khonatwork   |   Privacy Policy

  • YouTube - วงกลมสีขาว
bottom of page