top of page
รูปภาพนักเขียนchaitawees

COVID-19 Crisis: ความท้าทายของงานการบริหาร “ฅน”

ชัยทวี เสนะสงศ์ | Chaitawees@gmail.com

มีการเปรียบว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นวิกฤตที่จะเป็นบทพิสูจน์ เป็นความท้าทายความสามารถในการบริหารองค์กรของผู้นำ โดยเฉพาะเป็นบทพิสูจน์ถึงความจริงใจ จริงจังของผู้นำ (ทั้ง CEO และ CPO) ในการดูแลพนักงานในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤต โกลาหล กังวล เครียด ทั้งต่อปัญหาสุขภาพทั้งกาย ใจ และความเสี่ยงต่อการที่จะมีรายได้ลดลง หรือความเสี่ยงที่จะมีงานทำต่อไปหรือไม่ในอนาคต ถ้าองค์กรเข้ามาดูแล เยียวยา พนักงานอย่างเหมาะสม เมื่อผ่านวิกฤตไปได้ จะเป็น Employer brand ชั้นดีที่จะ engage ทั้งคนเก่ง คนดี ให้อยากอยู่ อยากเข้ามาทำงานกับองค์กร การบริหารองค์กร และการดูแลพนักงาน จากสถานการณ์ COVID-19 ผู้นำจะต้องทำงานร่วมกันอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน (Collaborative leader) ในการแก้ไขสถานการณ์ที่เป็นวิกฤตสุด ๆ เท่าที่ผู้เขียนได้ติดตามศึกษาถึงกรณีศึกษาองค์กรในประเทศจีน (ต้นน้ำของ COVID-19) ที่ตีพิมพ์ในวารสาร Harvard Business Review หลายๆบทความ พบว่าองค์กรที่แก้ไขปัญหาวิกฤต และเยียวยาพนักงานได้ดี สิ่งแรกองค์กรควรทำ ต้องแต่งตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจในการบริหารผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19” ขึ้นมา วัตถุประสงค์ในการตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจฯ ก็เพราะเนื่องจากผลกระทบของ COVID-19 ส่งผลต่อความเสี่ยงของความอยู่รอดขององค์กร ซึ่งจะกระทบมาถึงการมี หรือ ไม่มี งานทำของพนักงานทุกคนในอนาคต เพราะฉะนั้นองค์กรจึงจะต้องมุ่งความสนใจ (Focus) และรวมพลัง (Collaboration) ในการแก้ปัญหาสถานการณ์ COVID-19 อย่างจริงจัง ซึ่งงานนี้ CEO จะต้องรับบทบาทเป็นแม่ทัพเอง โดยเป็นหัวหน้าคณะทำงานฯ ส่วนคณะทำงานคนอื่น ๆ ก็เป็นผู้บริหารสูงสุดในแต่ละสายงานขององค์กร เช่น CFO, COO, CMKO, CPO, CIO เป็นต้น ภารกิจหลัก ๆ ของคณะทำงานฯจะเน้นกรอบแนวคิดใหญ่ ๆ เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาจากผลกระทบของวิกฤต COVID-19 ที่มีต่อองค์กรและพนักงาน ใน 4 แนวทางใหญ่ ๆ คือ การป้องกัน (Prevent) การตั้งรับ (Prepare) การตอบสนอง (Respond) และการฟื้นฟู (Recover) ซึ่งพอจะสรุปมาตรการในการแก้ปัญหา ได้ดังนี้


1. ศึกษาและทำความเข้าใจไวรัส COVID-19 อย่างถ่องแท้: การที่จะแก้ไขปัญหาอะไรให้มีประสิทธิภาพสูงสุดอันดับแรกจะต้องทำความเข้าใจถึงต้นเหตุของสถานการณ์ที่แท้จริง (Root of the problem) เสียก่อน ความเข้าใจที่ถูกต้องจะเป็นที่มาของความพร้อมในการออกแบบความคิด มาตรการต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาที่มีประสิทธิภาพ กรณี COVID-19 ควรทำความเข้าใจในข้อมูล (Big Data)


2. ติดตามมาตรการของรัฐบาลในการแก้ปัญหา COVID-19: อัพเดดข้อมูล มาตรการต่าง ๆ ของรัฐทั้งการป้องกัน การรักษาพยาบาล การเยี่ยวยาประชาชนให้มากที่สุดเพื่อจะได้รวบรวม Big Data มาใช้สำหรับการสร้างทางเลือกในการวางแผนแก้ไขปัญหาความเสี่ยงขององค์กรจากผลกระทบของมาตรการของรัฐ และบรรเทาความเดือนร้อนของพนักงาน


3. เตรียมพร้อมสำหรับการสื่อสารในลักษณะ “การสื่อสารในภาวะวิกฤต”: เนื่องจากว่าการแพร่ระบาดของข้อมูล ข่าวสารที่ไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อน หรือ บิดเบือน เกี่ยวกับการระบาดของ COVID-19 มีมากมาย องค์การอนามัยโลกถึงกับบัญญัติคำใหม่ขึ้นมาที่สื่อถึงข้อมูลที่บิดเบือนว่า “Infodemic” (มาจาก Information+Epidemic) ข่าวสารเหล่านี้แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วเพราะอิทธิพลของ Social Media ส่งผลให้พนักงานมาทำงานอย่างวุ่นวายใจ เป็นกังวล ตื่นตระหนก ไม่ไว้วางใจผู้อื่น ไม่มีความสุข เป็นการเพิ่มความสับสนวุ่นวาย โกลาหล ในบรรยากาศการทำงานขององค์กรเพิ่มมากขึ้นไปอีก และที่สำคัญพนักงานต้องการรู้ว่าองค์กรจะแก้ไขปัญหาอย่างไร เพื่อที่เขาจะได้วางแผนการใช้ชีวิตของเขาได้


4. คณะทำงานฯนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ (Data Analytics): เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นภาวะวิกฤต จึงส่งผลทำให้ประชาชน พนักงาน ตื่นตระหนก (Pandemic panic) การลดความตื่นตระหนกเฉพาะของพนักงาน องค์กรจะต้องสร้างความชัดเจนในการกำหนดกระบวนการเยี่ยวยาองค์กรและพนักงานในอนาคต (Foresight) ด้วยการทำการวิเคราะห์ความเสี่ยง และประเมินผลกระทบทางธุรกิจจาก Big Data ( ข้อที่1. และ ข้อที่2.) แล้วออกแบบแผนทางเลือกของการเกิดเหตุการณ์ในอนาคต (Scenario planning) ว่าองค์กรมีแนวทางในการแก้ปัญหาองค์กร พนักงาน อย่างไร แล้วสื่อสารออกไป


5. ออกแบบแผนความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Plan): หลังจากการทำ Data Analytics อย่างรอบครอบแล้ว องค์กรจะต้องระบุความเสี่ยงที่มากระทบต่อความเสียหายของธุรกิจ พนักงาน จากความเสี่ยงที่มีผลกระทบน้อยที่สุดไปจนถึงกระทบรุนแรงเลวร้ายที่สุด (Worst case scenario) เพื่อออกแบบกลยุทธ์/มาตรการ ในการดำเนินธุรกิจในสถานการณ์วิกฤตต่าง ๆ ณ ปัจจุบันความเสี่ยงที่องค์กรกำลังเผชิญก็คือองค์กรยังดำเนินธุรกิจอยู่แต่ต้องปรับเปลี่ยน ออกแบบรูปแบบการดำเนินธุรกิจใหม่ไปตามสถานการณ์ เช่น ร้านอาหารจะต้องสร้างโอกาสใหม่ จากขาย Off Line มาเป็น On Line พนักงานบางส่วนทำงานที่บ้าน และเริ่มมีบางกิจการต้องเลิกกิจการ เป็นต้น ถ้าองค์กรยังดำเนินธุรกิจอยู่ มาตรการต่าง ๆ จะเน้นไปที่การทำให้พนักงานจะยังคงสามารถทำงานให้องค์กรต่อไปได้ (People Continuity Plan) ทั้งการป้องกันไม่ให้ติดเชื้อไวรัส เปลี่ยนวิธีการ สถานที่ทำงาน ฯลฯ


6. การป้องกันส่วนบุคคลเพื่อลดความเสี่ยงมิให้พนักงานติดเชื้อ COVID-19: เมื่อองค์กรยังต้องดำเนินต่อไป องค์กร (CPO ควรเป็นเจ้าภาพ) จะต้องสร้างความมั่นใจให้พนักงานให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ว่าเมื่อต้องมาทำงานพวกเขาจะปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสด้วยมาตรการต่าง ๆ


7. เมื่อสถานการณ์ขององค์กรเริ่มวิกฤตในเรื่องของผลประกอบการ: เนื่องจากว่า COVID-19 Effect ที่มากระทบกับการดำเนินธุรกิจขององค์กรไม่รู้ว่าจะรุนแรง ยาวนานแค่ไหน อย่างไร องค์กรควรเตรียมมาตรการที่จะกระทบกับพนักงานในเชิงลบไว้ด้วย มาตรการเหล่านี้ควรใช้เมื่อมีความจำเป็น (ย้ำใช้เมื่อจำเป็นจริง ๆ)โดยมีเจตนารมณ์เพื่อยืดอายุการมีงานทำของพนักงาน ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และคำนึงถึงขวัญ กำลังใจ ของพนักงานให้มากที่สุด ที่จะต้องทำให้พนักงานเชื่อถือ ศรัทธา ไว้วางใจ องค์กรให้ได้ว่า องค์กรมีความจำเป็นที่จะต้องถอยหลังลงมาหนึ่งก้าว เพื่อรอเวลา และโอกาส ฟื้นฟูองค์กร เมื่อสถานการณ์กลับมาเป็นปกติ


8. เมื่อต้องเลิกกิจการ: เมื่อผลประกอบการขององค์กรเริ่มมีปัญหา รายได้ลดลงจนน้อยกว่ารายจ่าย จนต้องนำเงินกำไรสะสมมาใช้ หรือไปกู้สถาบันการเงินมาใช้จ่าย (ซึ่งก็ต้องเป็นหนี้ที่จะต้องใช้คืนในอนาคต) และสถานการณ์ดูแล้วไม่มีทางที่ดีขึ้น คณะทำงานฯ จะต้องประเมินความเสี่ยงอย่างเร่งด่วนแล้วรีบทำข้อเสนอในการบริหารความเสี่ยงต่อคณะกรรมการบริหารขององค์กรว่าจะมีมาตรการในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร ซึ่งหนึ่งในข้อเสนอควรมีทางเลือกในการเลิกกิจการและเตรียมการเลิกจ้างพนักงานทั้งแบบชั่วคราวและถาวร ซึ่งไม่ใช่การมองโลกในแง่ร้าย ล่าสุดเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เปิดเผยรายงานว่าจากมาตรการที่คุมเข้มเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด COVID-19 ของรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลก เช่น การ Lock Down การห้ามเดินทาง ห้ามสังสรรค์ ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ทำให้องค์กรจำนวนมากปิดกิจการ จะมีการลดจำนวนพนักงานทั้งเป็นการถาวรและชั่วคราวลง ประมาณร้อยละ 81 จากแรงงานทั่วโลกที่มีอยู่ประมาณ 3.3 พันล้านคน ล่าสุดบริษัทเทสลาอิงค์ ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐ ประกาศปรับลดเงินเดือนพนักงาน และจะปลดพนักงานรายชั่วโมง ทั้งหมด (ไปจนถึง วันที่ 4 พฤษภาคม 2563) สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) คาดการณ์ว่า ภาคการบินของฮ่องกงจะได้รับผลกระทบมากที่สุดในเอเชีย โดยจำนวนผู้โดยสารจะลดลง 23.6 ล้านคน ทำให้ต้องมีการปลดพนักงานที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมการบินของฮ่องกงลงราว 146,000 ตำแหน่ง สำหรับประเทศไทยเองมีการประมาณการว่า COVID-19 Effect จะทำให้มีคนตกงานประมาณ 7 ล้านคน จากปกติการว่างงานสูงสุดไม่เกิน 5 แสนคน (ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ)

ติดตามเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ วารสารการบริหารฅน Vol.1.2563 > Article - COVID-19 Crisis: ความท้าทายของงานการบริหาร “ฅน” เขียนโดย คุณชัยทวี เสนะวงศ์
ดู 60 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Talent Trends 2023

Comments


bottom of page