อนึ่ง บทความนี้คงหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงคำศัพท์ทางเทคนิคหลาย ๆ คำไม่ได้ หากท่านผู้อ่านเกิดข้อสงสัย หรืออาจไม่กระจ่างในคำอธิบายที่ถูกจำกัดด้วยขนาดของพื้นที่บทความนี้ ทางผู้เขียนได้ใส่แหล่งที่มาเอาไว้ให้ที่เอกสารอ้างอิงด้านล่างบทความ เพื่อนำไปต่อยอดทางความรู้ได้
การปฏิวัติครั้งใหญ่ต่อจากการปฏัวัติอุตสาหกรรม และวิทยาศาสตร์คือ การเกิดนวัตกรรมหนึ่งที่เราเรียกกันอย่างติดปากว่า Internet แน่นอนว่าเครือข่ายเชื่อมโยงที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่านี้เข้ามาเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคทั้งโลกอย่างชนิดที่เรียกว่าก้าวกระโดด บริษัทขนาดเล็กที่เรามักเรียกกันว่า startup สามารถใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีนี้เข้ามาต่อสู้กับองค์กรขนาดใหญ่ที่ก่อตั้งมาร่วมร้อยปีได้ชนิดที่ต่างกันหลายร้อยหลายพันเท่า ทั้งในแง่ของทรัพยากร เงินทุน และชื่อเสียง เราได้ดำรงชีวิตอยู่ในช่วงเวลาที่บริษัทผลิตกล้องขนาดใหญ่ ถูกบริษัทขนาดเล็กที่จำนวนพนักงานไม่ถึงยี่สิบคนแย่งชิงพื้นที่ของธุรกิจภาพถ่ายไปได้ (Kodak vs. Instagram) เราได้เห็นการปรับรูปแบบการติดต่องานต่าง ๆ และการทำงานแบบที่เคยทำมาหลายสิบปีเปลี่ยนไปเป็นโลก Online มากขึ้น (รวมถึงการกระตุ้นและเร่งความเร็วในการเปลี่ยนแปลงจาก Covid-19) และนั่นทำให้โลกของคนทำงานไม่มีทางกลับไปเป็นแบบเดิมได้อีกเลย โดยเฉพาะในแง่ของความรวดเร็ว และการเข้าถึง
ศตวรรษใหม่ที่กำลังจะมาถึงนี้ นวัตกรรมเปลี่ยนโลกอีกตัวหนึ่งได้ถือกำเนิดขึ้นมา สิ่งนั้นคือ Blockchain ซึ่งหากจะขออธิบายสั้น ๆ ง่าย ๆ คือ การตัดตัวกลางต่าง ๆ ที่เกิดในโลกธุรกรรมทั้งหมดทิ้งไปโดยเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีการประมวลผลและการจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์เข้ามาทดแทนตัวกลางต่าง ๆ ที่มีความน่าเชื่อถือทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร นายหน้า หรือผู้ประกันราคาต่าง ๆ หากจะยกตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับงาน HR ก็เช่น ทุกวันนี้เราต้องพึ่งพาหน่วยงานราชการเพื่อรับรองสิทธิบางอย่างของลูกจ้าง แต่หากนำระบบ Blockchain เข้ามาใช้ และกระจายข้อมูลต่าง ๆ ให้เป็นสาธารณะ (ซึ่งมีสิทธิเข้าถึงได้เฉพาะเจ้าของ หรือ owner เท่านั้น) โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาตัวกลางอีกต่อไป การตรวจสอบประวัติอาชญากรรม การขอดูภาษีย้อนหลัง การดูประวัติการขึ้นค่าจ้างจากนายจ้างเก่า หรือกระทั่งประวัติการโดนหนังสือเตือน ก็จะสามารถทำได้โดยไม่จำเป็นต้องเสียเวลาร้องขอหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งเพื่อเสียเวลาในการไล่หาข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ที่ต้องการ “ผู้รับรองความถูกต้อง” อีกต่อไป เพราะข้อมูลเหล่านั้นได้รับการรับรองจากสาธารณะเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีระบบหลังบ้านที่เข้มแข็งอย่าง Blockchain ป้องกันการปลอมแปลงข้อมูล (ศึกษาเรื่อง Smart Contract เพิ่มเติมได้หากท่านต้องการ)
ดังนั้นเมื่อไร้ตัวกลาง นั่นก็หมายความว่าอำนาจ หรือความเป็นเจ้าของข้อมูลแสดงสิทธิต่าง ๆ ถูกกระจายกลับมายังปัจเจกชนทุกคน สิ่งนี้คือกระบวนการที่เราเรียกกันว่า Decentralization (ไร้ศูนย์กลาง) เมื่อไม่มีคนกลางที่มีหน้าที่เป็นผู้สร้าง trust หรือความน่าเชื่อถืออีกต่อไป คนทุกคนก็จะเริ่มมีอิสระในการทำธุรกรรมต่าง ๆ ได้ประหยัดขึ้น สะดวกขึ้น รวดเร็วขึ้น และง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากพนักงานท่านหนึ่ง ต้องการที่จะใช้สวัสดิการกู้บ้าน ก็เพียงแค่ส่งข้อมูลจาก Blockchain ส่งไปหาผู้ให้กู้ ซึ่งจะเป็นใครก็ได้ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสถาบันทางการเงินเพียงอย่างเดียว หรือหากเป็นกระบวนการ recruitment แล้วต้องการตรวจสอบประวัติการทำงานย้อนหลัง ก็ไม่จำเป็นต้องติดต่อนายจ้างเดิม หรือร้องขอเอกสารจากที่ต่าง ๆ ให้วุ่นวาย เพียงแค่ขอข้อมูลจากพนักงานโดยตรงก็จะได้รับข้อมูลย้อนหลังที่มีความน่าเชื่อถือ 100% แทน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้เราเรียกว่าระบบ Peer to Peer platform ซึ่งลองจินตนาการดูว่าหากเราทำศักยภาพของระบบนี้มาใช้ในการบริหารงานบุคคลจะเปิดขอบเขตในการจ้างงานออกไปได้กว้างขึ้นขนาดไหน การสร้างแรงงานจากภายนอกองค์กรก็จะปลอดภัยมากขึ้น เช่นการจ้างผ่าน crowd sourcing หรือ gig works ที่เป็นงานไม่ประจำและทำเพียงครั้งคราว แล้วนำข้อมูลสัญญาจ้างทั้งหมดขึ้นระบบแบบ Decentralized
โลกในยุคใหม่ กำลังเริ่มจะมีการจ่ายเงินเดือนพนักงานด้วย Cryptocurrency และ Token มากขึ้น เพื่อหลีกหนีความยุ่งยากของระบบต่าง ๆ ที่มีข้อจำกัดในการจ้างงาน เช่นพนักงานที่ไม่อยากรับอัตราผันผวนของสกุลเงินต่าง ๆ หรือการให้เป็นสวัสดิการระยะยาว (Long Term Incentive) ด้วยการให้ Token (หรือที่เราชอบเรียกกันว่าเหรียญ) ที่เสมือนเป็น “หุ้น” ที่ยังไม่มีมูลค่าแต่จะมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกขณะที่บริษัทได้เติบโตขึ้นไป ซึ่งมีข้อดีคือฝ่ายเจ้าของบริษัทเองก็จะไม่เสียสิทธิในความเป็นเจ้าของออกไปเช่นกัน ทำให้สามารถบริหารจัดการ talent ได้ง่ายขึ้น ลองนึกภาพบริษัทต้องเข้าไปแข่งขันเพื่อหาตำแหน่งงานหายากที่เป็นที่ต้องการของตลาด แล้วสามารถยื่นข้อเสนอพิเศษขึ้นมาด้วยการให้ Company Token ที่จะมีมูลค่ามากขึ้นในอนาคต นอกจากจะสร้างความแตกต่างในการให้สิทธิประโยชน์และค่าตอบแทนแล้ว ยังได้ engagement tool ที่เอาไว้ยึดเหนี่ยวพนักงานในตำแหน่งสำคัญในระยะยาวได้อีกด้วย
นอกจากนี้ยังมีไอเดียในการสร้าง employee experience เพิ่มเติมในองค์กรโดยการใช้สินทรัพย์ที่เรียกว่า Non-Fungible Token หรือ NFT โดยหากจะอธิบายง่าย ๆ NFT คือสิ่งของทั่วไปที่มีอยู่บนโลกใบนี้ทั้งที่จับต้องได้ เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ปากกา หรือจับต้องไม่ได้ เช่น ไฟล์รูปภาพ สกุลเงินดิจิตอล ที่ไม่ได้มีมูลค่าตายตัว ซึ่งไม่เหมือนกับ “เงิน” ที่มีมูลค่าที่ได้รับการยอมรับเทียบเท่าหรือเกือบเท่ากับมูลค่าจริงของมัน เช่น แบงค์ 500 บาท ไม่ว่าจะเปลี่ยนกี่มือก็จะมีมูลค่า 500 เช่นนั้น แต่ NFT คืออะไรก็ได้บนโลกใบนี้ที่เอาแลกเปลี่ยนกันบนเทคโนโลยี Blockchain ยกตัวอย่างเช่น การ์ดรูปนางงาม Miss Thailand Universe ก็จะมีคนที่ให้มูลค่าการ์ดใบนี้ไม่เท่ากันและแต่ละครั้งที่เปลี่ยนมือจากผู้เป็นเจ้าของ ก็จะมีมูลค่าที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งจริง ๆ แล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย การที่เราขุดดินแล้วเจอพระเครื่องหายากแล้วนำไปประมูลขายก็คือ NFT เช่นกัน เพียงแต่ด้วยเทคโนโลยีของ Blockchain ที่เข้ามาช่วยให้การแลกเปลี่ยนนี้ง่ายขึ้น ปลอดภัยขึ้น และสามารถยืนยันความเป็นเจ้าของได้ จึงทำให้องค์กรสามารถสร้าง Compensation and Benefit ที่หลากหลายขึ้นไปได้อีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น สมัยก่อนเมื่อพนักงานทำงานครบ 10 ปี นายจ้างก็อาจจะตอบแทนด้วยหนังสือขอบคุณและสร้อยข้อมือ หรือคูปองเงินสดของห้างร้านต่าง ๆ แต่ถ้าเราเอา NFT เข้ามาใช้ แล้วให้พนักงานเป็นรูปภาพ Brand Ambassador หรือ Presenter ที่เป็นดารา นักร้อง ศิลปิน หรือผู้ทรงอิทธิพล (Influencer) พร้อมข้อความเสียงส่วนตัว หรือลายเซนต์ ก็จะทำให้สามารถออกแบบประสบการณ์ใหม่ ๆ ในการสร้าง engagement program ขึ้นมาได้อีกหลากหลายรูปแบบ
เทคโนโลยีสุดท้ายที่จะขอเขียนถึงในครั้งนี้คือ DAO หรือ Decentralized Autonomous Organization หรือแปลตรงตัวว่าองค์กรอัตโนมัติแบบกระจายศูนย์ หากเราลองนึกภาพของคำว่า “องค์กร” เราจะนึกถึงสถานที่ทำงาน มีห้องทำงาน ห้องประชุม พนักงาน สายบังคับบัญชา อำนาจดำเนินการ สัญญาจ้างงาน ข้อบังคับการทำงาน กฏระเบียบมากมายที่เป็นเอกสารกองเป็นตั้ง ๆ เวลาจะเสนอไอเดียในการทำงาน ลงทุน หรือซื้อกิจการ ก็จะต้องมีการประชุมวางแผน เสนอไอเดีย เข้าที่ประชุมอนุมัติ ศึกษา แก้ไข และนำเสนอเพื่อพิจารณาไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเกิดความมั่นใจที่สุดจากผู้มีอำนาจมากที่สุดในองค์กร งานถึงจะเกิดขึ้นมาได้ แต่หากลองคิดใหม่ว่า “องค์กร” ที่ว่ามาไม่มีสิ่งดังกล่าวเลย แต่มีการเขียนโปรแกรมขึ้นมาให้ทุกคนมีสิทธิในการ “ออกเสียง” ผ่าน Token ที่องค์กรสร้างไว้ให้คนที่อยากเข้าร่วมองค์กรนี้ถือ และให้อำนาจในการตัดสินใจของทุกคนตามเสียงที่มี และหากตกลงกันได้ตามสัญญาที่กำหนด ระบบก็จะเริ่มทำงานผ่านโปรแกรมที่เขียนขึ้นไว้ทันทีอย่างอัตโนมัติ ยกตัวอย่างเช่น องค์กรหนึ่งต้องการที่จะสร้างระบบให้กู้เงินขึ้นมาผ่าน Peer to Peer (P2P) แต่องค์กรนี้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นสถาบันทางการเงินที่ได้รับการรับรองจากตัวกลาง เช่น ธนาคารแห่งชาติ เพียงแค่ประกาศรับสมัครพนักงานที่สนใจจะปล่อยเงินกู้เข้ามารวมกันบน Blockchain จากนั้นก็ออก Token ให้พนักงานแต่ละคนถือเพื่อพิจารณาออกเสียงว่าจะให้ผู้ที่เข้ามากู้ยืมเงินสามารถขอกู้ได้หรือไม่ เช่น นำไปลงทุนสร้างกิจการ จากนั้นเมื่อกิจการดังกล่าวประสบความสำเร็จ ผู้ให้กู้ในองค์กรดังกล่าวก็จะได้รับการจัดสรรปันส่วนตามที่ตกลงกันไว้บน Blockchain นั่นเอง โดยที่การดำเนินการทั้งหมดเป็นไปอย่างอัตโนมัติทันที ไม่ต้องมีการนัดประชุมหลายสิบรอบ ไม่ต้องทำเอกสารเพื่อขออนุมัติ หรือคอยนัดประชุมย่อยเพื่อหารือแผนงานอีกต่อไป
อย่างไรก็ตามเทคโนโลยีที่กล่าวมาทั้งหมด ย่อมมีทั้งผลดี ผลเสีย ความยาก และความง่ายในการนำไปประยุกต์ใช้จริง และไม่ได้มีความจำเป็นว่าเราจะต้องหยิบมันไปใช้ 100% ทันทีเพื่อกลัวตกกระแสแต่อย่างใด ทุก ๆ การปฏิวัติย่อมมีการสะดุด ล้ม และลุกขึ้นมาปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่น่าสนใจคือ ด้วยเทคโนโลยีที่กำลังจะเข้ามาในอนาคตนั้น อะไรที่จะสามารถสร้างความสุขในการทำงานเพิ่มขึ้นได้ ในฐานะ HR ก็เป็นคำถามใหญ่ที่น่าสนใจเช่นกัน
อ้างอิง Blockchain คืออะไร? การปฏิวัติตัวกลางครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ - FINNOMENA
องค์กรอัตโนมัติ DAO คืออะไร? - FINNOMENA
The Story of the DAO — Its History and Consequences | by Samuel Falkon | The Startup | Medium
NFT คืออะไร?: The NFT Bible — Part 1 - FINNOMENA
P2P Lending คือ อะไร? - FINNOMENA
SMART CONTRACT คืออะไร ? - สพธอ. (etda.or.th)
"Cryptocurrency" คืออะไร - มีวิธีคัดเลือกเหรียญที่จะลงทุนยังไงบ้าง ? (moneybuffalo.in.th)
Unleashing The Decentralised Workforce - by Andy Spence (substack.com)
FWTC21| Andrew Spence - Blockchain, Decentralized Workforce and what it means for the Future of Work - YouTube
Comments