top of page
รูปภาพนักเขียนชินภัทร์ สุวรรณพุ่ม

HR กับบทบาทในการช่วยพลิกฟื้นธุรกิจ และขับเคลื่อนธุรกิจให้ไปต่อ

ขณะที่ทุกท่านกำลังอ่านบทความนี้ คงปฏิเสธได้ยากว่าไม่รู้จัก หรือไม่ได้รับผลกระทบจากโลกในยุค VUCA แบบที่กำลังเกิดขึ้นอย่างเด่นชัดอยู่ในปัจจุบัน คำว่า "Business Disruption" หรือการถอนรากถอนโคนทางธุรกิจโดยสิ้นเชิง เป็นที่ถูกพูดถึงอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา บางธุรกิจถูก Disrupt เพราะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ การขับเคลื่อนหรือการเปลี่ยนแปลงองค์กรทำได้ช้า รู้ตัวอีกทีก็ปรับเปลี่ยนตัวเองไม่ทัน เราได้เห็นว่า "ปลาใหญ่ กิน ปลาเล็ก" ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เหมือนในอดีตแล้ว ยุคนี้เป็นยุคที่ ปลาเล็กที่รวดเร็ว จำนวนหลาย ๆ ตัวช่วยกันรุมกัดกินปลาใหญ่จนกระทั่งต้องล้มตายไปในที่สุด สำหรับบางธุรกิจก็เลือกที่จะ Disrupt ตัวเอง หรือการนำภาพความสำเร็จในอดีตของตนเองโยนทิ้งไป แล้วเริ่มมองน่านน้ำใหม่ ที่ตนเองจะสามารถเติบโตหรือขับเคลื่อนตัวเองต่อไปได้ แล้วเริ่มที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อที่จะพาธุรกิจให้รอดกับยุคปัจจุบัน

ปรับ เปลี่ยน ขยาย หด

ปรับ ธุรกิจที่ไม่อยากถูกคนอื่น Disrupt เริ่มต้นปรับตัวเองอย่างรวดเร็วให้ทันกับสภาพแวดล้อมพฤติกรรมผู้บริโภค และนำเทคโนโลยีต่างๆมาใช้ หรือที่เรียกว่า Disrupt ตัวเอง เพื่อความอยู่รอด


เปลี่ยน ในบางธุรกิจก็พบว่าเมื่อมองไปยังอนาคตแล้วดูจะมืดมน ก็จะต้องปรับเปลี่ยนธุรกิจของตนเองให้ทันท่วงที เช่น ธุรกิจสื่อหรือโทรทัศน์วิทยุ ผันตัวเองไปทำกิจการอย่างอื่น เช่น Online Shopping ซึ่งอาศัยประโยชน์จากเทคโนโลยีในการทำธุรกิจรูปแบบใหม่


ขยาย ธุรกิจที่ต้องการเติบโตต่อ เมื่อดูจากการแข่งขันภายในบ้าน หรือในตลาดเดิม ๆ เริ่มตีบตัน จะต้องเร่งในการออกไปเติบโตในตลาดใหม่ ๆ แม้จะยากกับการเริ่มอะไรใหม่ ๆ แต่ดูแล้วการแข่งขันในตลาดทะเลสีเลือดคงมีอนาคตอีกไม่นานสู้หาทางใหม่คงจะดีกว่า


หด ธุรกิจบางประเภทเริ่มศึกษาแนวโน้มในอนาคตแล้วก็พบว่า Core Business ปัจจุบัน อาจจะไม่สามารถเติบโตต่อได้ ก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยน Port อัตรารายได้ของตนเองให้เปลี่ยนไป บริษัทรถยนต์บางที่ยกเลิกการผลิตรถยนต์รูปแบบเดิม ไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า หรือเริ่มปรับสัดส่วนของการผลิตรถไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ด้วยทรัพยากรน้ำมันภายในโลกที่ลดลงเรื่อยๆ และแนวโน้มการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น บริษัทที่เคยขายน้ำมันก็ต้องปรับเปลี่ยนตัวเองเป็น Platform และสร้างการเติบโตให้กับผลิตภัณฑ์กลุ่มที่เป็น Non-Oil เพิ่มมากขึ้น

ถ้ามองด้วยมุมมองแบบ HR ก็คงจะมองว่าสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของคนที่ทำธุรกิจ หรือเจ้าของกิจการ เมื่อตัดสินใจอย่างไรแล้วก็ฟันธง หรือตัดสินใจมา HR ก็จะไปดำเนินการให้เท่าที่จะสามารถทำได้ การทำงานในรูปแบบเดิมี่ทุกอย่างควบคุมได้ ทำให้เราสามารถวางแผนได้เป็น 3 ปี บ้าง 5 ปี บ้าง ทำให้ทุกเรื่องถูกคิดมาเป็นอย่างดี หรือถ้าจะเริ่มให้โจทย์ HR ก็ยังมีเวลาที่จะค่อย ๆ ทำไป แล้วก็ปรับเปลี่ยนไปเรื่อยๆ จนเข้าที่ได้ในระยะเวลาหลายปี แต่การทำงานในโลกยุค VUCA โลกที่อะไรก็ไม่แน่นอน การทำธุรกิจใหม่บางครั้งเริ่มต้นอย่างรวดเร็ว และก็จบได้อย่างรวดเร็ว หากลองทำแล้วไม่เป็นไปตามที่คาดหวัง ความต้องการคำแนะนำ และข้อมูลจาก HR เป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมากกับการสร้างหรือปรับเปลี่ยนธุรกิจในยุคใหม่ ในบริษัทฯยุคใหม่ จึงไม่ได้มอง HR เป็นงานธุรการ แต่มองเป็นหนึ่งในปัจจัยที่นำไปสู่ความสำเร็จในการทำธุรกิจขององค์กรมากกว่าสมัยเดิม ธุรกิจจึงเริ่มเปิดรับให้ HR เข้ามาร่วมทำงานกับธุรกิจ และมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของ "Strategic Partner" ของคนที่ทำธุรกิจด้วย

Dave Ulrich ปรมาจารย์ด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นคนแรก ๆ ที่พูดถึงบทบาทของ HR ในฐานะที่เป็น Strategic Partner ในหนังสือของเขาที่ชื่อ "Human Resource Champions" ซึ่งมีการเผยแพร่ตั้งแต่ช่วงปลายของยุค 90 หลังจากนั้นก็เริ่มถูกพูดติดปากในกลุ่มของ HR จนกลายเป็นคำว่า HR Business Partner (HRBP) ไม่ว่าธุรกิจจะหันหน้าไปทางไหน HRBP ก็จะเป็นที่พึ่งพาให้ธุรกิจ รับฟังความต้องการ และสามารถออกแบบและผลักดันกระบวนการด้านการบริหารคน ให้สอดคล้องกับภาพทางธุรกิจ เสมือนเป็น "เพื่อนคู่คิด มิตรคู่ใจ" ให้กับคนที่ทำธุรกิจ

สำหรับคำว่า HRBP AIHR ให้คำจำกัดความว่า HRBP คือ ผู้ที่มีความรู้สรรพวิทยาการในด้าน HR โดยมุ่งเน้นการนำความรู้ด้าน HR มาช่วยเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ และหาวิธีในการสนับสนุนธุรกิจ มีเป้าหมายหลักในการทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ผ่านการสนับสนุนการตัดสินใจในด้านคนแก่ผู้นำธุรกิจ เพื่อให้เราเข้าใจบทบาทหน้าที่ของ HRBP เพิ่มมากขึ้น Job Description ของตำแหน่ง HRBP จากมุมมองของ Linkedin และ Accenture พบว่า HRBP ควรมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

> เป็นศูนย์กลางในการติดต่อจากผู้นำธุรกิจในด้าน HR โดยทำงานครอบคลุมตั้งแต่การให้คำปรึกษาไปจนถึงการลงมือปฏิบัต การวางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เกี่ยวกับการบริหารคน และคาดการณ์สิ่งที่มีโอกาสจะเกิดปัญหาขึ้นได้ในอนาคต


> ทำงานร่วมกับผู้นำของธุรกิจในการวิเคราะห์ความต้องการของธุรกิจ และทำงานร่วมกับ HR ที่ดูแลงานด้านอื่น ๆ ในการตอบสนองความต้องการของธุรกิจ


> ระบุรายละเอียดและบทบาทของงานในแต่ละตำแหน่งงาน ที่จะช่วยขับเคลื่อนธุรกิจที่สอดคล้องกับสถานะทางธุรกิจปัจจุบันได้


> ให้คำแนะนำแก่ผู้นำธุรกิจนำแผนงานสู่การปฏิบัติ ช่วยควบคุมดูแลความคืบหน้าของผลงานตามแต่ละตัวชี้วัดที่ธุรกิจได้รับ

ตำแหน่งงาน HRBP ในปัจจุบันถูกวางเอาไว้ในหลายรูปแบบ บางที่กำหนดให้ HRBP มีลักษณะการทำงานเป็นทีม และมีการแบ่ง Key Account ตามธุรกิจให้ดูแล แต่บางที่จะเป็นการจ้าง HRBP ในระดับ Mid-Career ที่เติบโตมาจาก HR และมีความเข้าใจภาพกว้างของงาน HR สามารถทำงานแบบตัวคนเดียว ทำหน้าที่เป็นเสมือนผู้เชี่ยวชาญ คอยให้คำแนะนำกับผู้นำธุรกิจที่ตนเองดูแล ทำหน้าที่ Consultant, Executor, Manager ได้ในคน ๆ เดียว

HRBP ในมุมจากข้อมูลของ Gartner ให้รายละเอียดเกี่ยวกับ บทบาทที่แตกต่างกันของ HRBP ดังนี้

1. Operations Manager เป็นผู้คุมตัวชี้วัด วัดผลงาน และการดูภาพใหญ่อย่างนโยบาย และกระบวนการการบริหารงานต่าง ๆ ให้มีความสอดคล้อง


2. Emergency Responder เป็นเหมือนสมองกลที่คอยให้วิธีในการแก้ไขปัญหาฉุกเฉินหรือปัญหาเฉพาะหน้าแก่ธุรกิจได้อย่างทันท่วงที


3. Strategic Partner สนับสนุนการนำกลยุทธ์ไปใช้ตามแผนงาน ไม่ว่าจะเจอความท้าทายอะไร หรือเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นที่มากระทบต่อธุรกิจ ทั้งปัจจุบัน และอนาคต


4. Employee Mediator มุมมองในด้านการเป็นตัวกลางของพนักงาน ในการรับเรื่องราว การช่วยแก้ปัญหาของพนักงานแต่ละคน ที่มีความต้องการแตกต่างกันให้ได้รับการตอบสนองอย่างเหมาะสม

อนาคตบทบาทของ HR Business Partner ตัวแทนของ HR ที่จะช่วยพลิกฟื้นธุรกิจให้กลับมาได้

ข้อมูลจาก Gartner พบว่า HRBP ที่ทำบทบาทได้อย่างสมบูรณ์ จะช่วยธุรกิจให้พัฒนาผลงานของพนักงานได้ถึง 22% การรักษาพนักงานได้ถึง 24% และเพิ่มรายได้และผลกำไรให้กับองค์กรได้ถึง 7% และ 9% ตามลำดับ เพราะฉะนั้นบทบาทนี้ค่อนข้างเป็นบทบาทที่สำคัญในการนำพาองค์กรให้อยู่รอด และเป็นเสมือน "มือขวา" ให้กับธุรกิจในการเป็นที่ปรึกษาด้านคนแบบครบวงจร แล้วคนที่จะเป็น HRBP ที่สร้างความแตกต่างได้ ควรเป็นอย่างไร เรามีคำตอบ ดังนี้

Mindset ของ HRBP

HRBP ควรมองตัวเองว่าเป็นผู้นำธุรกิจอันดับแรก และค่อยคิดในมุมมองของ HR คนส่วนใหญ่ที่เป็น HRBP มักจะเติบโตขึ้นมาจากงาน HR จึงไม่แปลกที่เราจะคิดถึงความเชี่ยวชาญของเรามากกว่าความสนใจ หรือการพยายามเข้าใจธุรกิจ การที่เราจะเป็น HR ที่จะพาธุรกิจไปสู่อนาคตได้ สิ่งแรกเราควรจะเข้าใจ นั่นคือ ความต้องการของธุรกิจแล้วค่อยมองว่า HR จะเป็น Enablers หรือ Solutions ให้กับธุรกิจได้อย่างไร


ถ้าเราใช้มุมมองของ HR ตั้งแต่ต้น การจะทำเรื่องต่างๆ ก็อาจจะติดรุงรัง มากกว่าจะสนับสนุนธุรกิจได้จริง Mindset จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก นอกจากจะทำให้งานสำเร็จด้วยดีแล้ว ยังสร้างความน่าเชื่อถือให้กับธุรกิจด้วย เพราะเขาจะมองว่า HRBP คือคนที่เข้าใจเขา และทำงานเพื่อสนับสนุนเขามากกว่าที่จะคอย "ขัดขวาง"

เป็นโค้ช และที่ปรึกษา

มีความเข้าใจในสถานการณ์ปัจจุบันและความท้าทายที่กำลังจะมาถึงในอนาคต ซึ่งจะกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงด้านคนภายในองค์กร มีความรู้และทันต่อสถานการณ์ สามารถสื่อสารให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจได้ง่าย และควรจะมุ่งเน้นความสามารถในการให้คำปรึกษาหรือโค้ชกับผู้นำแต่ละคนที่มีความแตกต่างกัน ให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายและกลยุทธ์ด้วยรูปแบบการบริหารที่แตกต่างกันของผู้นำ วิธีการที่ทำได้คือ การทำให้ผู้นำ เปิดโอกาสในการรับฟังผู้อื่นเพิ่มมากขึ้น และ HRBP ช่วยเป็นคนสะท้อนภาพให้ผู้นำเห็นภาพการตัดสินใจ และผลการตัดสินใจของผู้นำในแต่ละเรื่องได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยใช้ "คำถามที่ทรงพลัง" ในขณะเดียวกัน HRBP ก็จะต้องเป็นโค้ชที่ดี และควรมีทักษะในเรื่องการฟังความต้องการหรือปัญหาได้อย่างลึกซึ้งด้วย

มีความรู้ด้านธุรกิจ

ควรจะเป็นความสามารถที่ควรจะมีเป็นอันดับต้นๆ ของ HR ทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณเป็น HRBP คงจะต้องมีความเข้าใจธุรกิจอย่างลึกซึ้งขึ้นไปอีกระดับ โดยจะต้องสามารถเข้าใจได้อย่างรวดเร็วในสิ่งที่จะเป็นภัยคุกคาม และเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจ มีความสามารถในการมองหาช่องทางในการใช้ประโยชน์ และเชื่อมโยงความรู้ทางด้านธุรกิจให้สามารถรับมือกับปัญหาที่ท้าทายได้

ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวเลขทางธุรกิจ

นอกจากจะช่วยธุรกิจให้ประสบความสำเร็จในงานหน้าบ้าน เช่น การรับคนเก่ง และรักษาคนเก่ง การฝึกอบรมเพื่อให้สามารถส่งมอบผลิตภัณฑ์ชั้นดีได้แล้ว ควรจะต้องมีความเข้าใจในกระบวนการปฏิบัติงาน และเรื่องค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะ ค่าใช้จ่ายบุคลากรอย่างลึกซึ้งได้อีกด้วย เพราะเมื่อเราเริ่มทำโครงการไปแล้ว ตัวเลขเหล่านี้จะเป็นตัวชี้วัดประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของโครงการได้เป็นอย่างดี

ใช้ข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจ

การใช้ข้อมูลในเชิงตัวเลข และข้อมูลในเชิงบริบทเพื่อใช้ในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ พร้อมทั้งการวัดผลความคืบหน้าของตัวชี้วัดอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้ข้อมูลในด้านบริบททางสังคมและปัญหาที่เจอ ปัญหาที่คุณเคยเจอจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจะเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ข้อมูลที่จะวิเคราะห์เพื่อนำมาแก้ไขปัญหา อาจจะเป็นข้อมูลคนละชุดกันกับปัญหาที่เกิดขึ้นในยุโรป เนื่องจากบริบทที่แตกต่างกัน การใช้ข้อมูลมากกว่าความรู้สึกส่วนตัวของ HRBP จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือของตัวคุณเอง และช่วยให้ผู้นำธุรกิจมีความมั่นใจที่จะตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนได้แม่นยำยิ่งขึ้น และรับรู้ความเสี่ยงในมุมต่าง ๆ ได้ด้วย

เป็นตัวเชื่อมระหว่างธุรกิจและทีม HR

แม้แต่ธุรกิจเองก็เข้าใจว่าการมี HRBP ที่เข้าใจธุรกิจเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ แต่ HRBP จะต้องสามารถสื่อสารต่อกับ HR ที่ดูแลกลยุทธ์นโยบาย และ HR ที่ดูด้านการปฏิบัติการด้วย และทำหน้าที่ในการจัดหาทรัพยากรจาก HR ที่ดูแลด้านต่าง ๆ ให้เข้ามาสนับสนุนธุรกิจได้อย่างตรงจุด และทันเวลาอีกด้วย

เป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ

สุดท้าย หากเราทำบทบาทด้านต่าง ๆ ได้ดี แต่ถ้าเราไม่สามารถสื่อสารออกไปเพื่อสร้าง "แนวร่วม" หรือทำให้คนคล้อยตามเราได้ ก็ยากที่จะทำงานให้สำเร็จได้ การรับฟังพนักงานทุกระดับ การสื่บสารบนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลเพื่อเป็นหลักฐานมากกว่าความรู้สึกส่วนตัว การแสดงให้ธุรกิจรู้ว่าพวกเราเข้าใจในสถานการณ์ของคุณ ซึ่งจะทำให้คุณเกิดความน่าเชื่อถือ และธุรกิจก็จะมองว่าคุณคือพวกเดียวกับธุรกิจ จะเห็นได้ว่าผมเน้นย้ำเรื่องของการสร้างความน่าเชื่อถือสำหรับ HRBP นั่นก็เป็นเพราะว่า ผู้นำธุรกิจจำนวนมาก ไม่ได้อยากให้คนมามีส่วนร่วมมากเท่าไหร่ในการทำธุรกิจ และการเปิดโอกาสให้คนนอกมามีส่วนร่วม เขาจะต้องเชื่อถือ และเห็นประโยชน์ของการมี HRBP จึงจะถือเป็นประตูเบิกทางในการทำงานได้อย่างดี

แล้วคุณอยากเป็น HRBP แบบไหน

มาถึงตรงนี้ ผู้เขียนเชื่อว่าแม้คุณจะไม่ใช้ HRBP แต่คุณก็ทำตัวเป็น HRBP ได้ และองค์กรก็คงจะอ้าแขนรับถ้า HR ทุกคนจะมี Mindset และพยายามที่จะเสริมบทบาท HRBP ในงานของตนเอง แล้วคุณล่ะ อยากเป็น HRBP แบบไหน

เข้าทำงานที่ออฟฟิศ พร้อมกับคอมพิวเตอร์โน้ตบุ้ค และถามผู้นำธุรกิจว่า จะสามารถช่วยเหลืออะไรได้บ้าง คอยจดตามคำบอกทุกตัวอักษร และไปทำตามสั่ง

หรือ

ทำงานที่ใดก็ได้ไม่สำคัญ เริ่มต้นจากการค้นหาข้อมูลจากฐานข้อมูลในด้านต่างๆ ของสายงานที่ตนเองดูแล รู้ข้อมูลล่าสุดของทุกเรื่อง ตั้งแต่เรื่องคนเข้า คนออก ไปจนถึงการเรียนรู้ของพนักงาน เพื่อค้นหาว่าประเด็นอะไรที่จะนำเสนอและช่วยเหลือธุรกิจได้ และเริ่มเป็นคนตั้งต้นในการคุยกับผู้นำธุรกิจ

หน้าที่สำคัญของ HRBP คือ การมองในเชิงกลยุทธ์ว่า จะเพิ่ม Productivity ผลกำไร และเพิ่มศักยภาพความได้เปรียบในการแข็งขันขององค์กร โดยเน้นในเรื่องการบริหารคนที่ตัวเองดูแลได้อย่างไร และจะต้องมี "ความกล้า" กล้าถาม และกล้าคัดค้าน ในสิ่งที่ไม่ถูกต้องและมีข้อมูลที่ชัดเจนมายืนยัน เพราะถ้าคุณวางตัวเองว่าอยุ่ในบทบาทของ Partner นั่นคือสิ่งที่คุณควรทำ มากกว่าการซ้ายหัน ขวาหัน ตามที่ธุรกิจตัดสินใจและอาจเป็นความเสี่ยงที่ตามมาในอนาคตขององค์กรได้


 

Reference

ดู 420 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Talent Trends 2023

Comments


bottom of page