top of page
รูปภาพนักเขียนHR DAY

Prepare yourself for Robotics World

Thailand HR DAY 2019 by PMAT

ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ระบบหุ่นยนต์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์มากขึ้น และจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของ HR อย่างไรบ้าง เราจะมีวิธีรับมือกับโลกในยุคหุ่นยนต์ได้มากแค่ไหน


จากการสำรวจของกระทรวงอุตสาหกรรม พบว่าระบบ Robotics หรือ AI จะมาช่วยลดภาระงานของคนได้มากถึง 58% เลยทีเดียว ซึ่งอัตราการเติบโตในการใช้ Robotics ในการทำงานของประเทศไทยนั้น ไม่ได้หวือหวาถ้าเทียบกับประเทศจีน หรือเกาหลี ที่มีการเติบโตทางด้านนี้อย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้เมื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ จะทำให้เราได้ประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น โดยการนำหุ่นยนต์หรือจักรกลไปทดแทนคนในส่วนงานที่ไม่ต้องใช้ทักษะมากนัก เช่น การยกของ จับ วาง เป็นต้น ซึ่งหุ่นยนต์ 1 ตัว ทดแทนกำลังคนได้อย่างน้อย 2 คน และแนวโน้มในอีก 5 ปีข้างหน้า กระทรวงอุตสาหกรรมจะสนับสนุนให้มีการนำหุ่นยนต์หรือจักรกลมาใช้ในอุตสาหกรรมให้มากขึ้นถึง 4,000 ตัว


เมื่อเห็นแนวโน้มแบบนี้แล้ว คนทำงานอยู่คงมีความตระหนกกันไม่น้อยเลยทีเดียว ว่าหุ่นยนต์ จักรกล หรือปัญญาประดิษฐ์นั้น จะมาแย่งงานของมนุษย์จริงๆ ทำให้คนไม่มีงานทำ แต่ความจริงเป็นเช่นนั้นหรือ


สิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือ การทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เรียกได้ว่าเป็นการ “ตื่นตัว” แต่ไม่ใช่ “ตื่นตระหนก” และมาเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดีกว่า โดยหน้าที่สำคัญของ HR เป็นการสร้างความเข้าใจให้คนทำงานได้ตระหนักว่า การที่มีหุ่นยนต์ หรือจักรกลนั้น จะเป็นการเข้ามาช่วยเสริมทัพให้คนทำงาน สามารถทำงานได้ดีขึ้น เพราะสามารถช่วยลดภาระงานประจำวันบางอย่างลงได้ ทำให้ผู้บริหารได้มีเวลาคิด วิเคราะห์ ในเรื่องสำคัญจำเป็นต่อองค์กร มากกว่าการที่จะเข้ามาเพื่อเซนต์เอกสารในแต่ละวันเพียงอย่างเดียว


การเข้ามาถึงของปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั้น ไม่สามารถทดแทนสมองของมนุษย์ได้ แต่เข้ามาช่วยให้มนุษย์นั้นสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของตนเองไปได้อีก เป็นการใช้ทรัพยากรเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยไม่ต้องมานั่งกังวลถึงทรัพยากรเวลาที่มีค่าและไม่สามารถหาสิ่งอื่นมาทดแทนได้


คราวนี้ก็เป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมอย่างไรให้คนกับหุ่นยนต์สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึง คือ ต้องหาให้ได้ว่างานส่วนไหนที่มนุษย์ยังคงต้องเป็นคนคิด และลงมือทำ และงานส่วนไหนที่สามารถนำหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยให้งานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยงานที่สามารถนำหุ่นยนต์หรือปัญญาประดิษฐ์มาทดแทนได้นั้น มักจะเป็นงานที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ งานที่มีหลักการคิดแน่นอน ยกตัวอย่างเช่น การอนุมัติสั่งซื้อที่มีมูลค่าต่ำ เป็นการสั่งซื้อที่เป็นประจำ เช่น อุปกรณ์สำนักงาน กระดาษ A4 ที่มีการสั่งซื้อเป็นประจำทุกเดือน สามารถนำระบบ AI เข้ามาทดแทนได้ โดยที่ผู้บริหารไม่จำเป็นต้องมานั่งเซนต์เอกสารเองทุกแผ่น หรือการประชุมผ่านเทคโนโลยีคอนเฟอเรนซ์ ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการเดินทางไปประชุมที่สำนักงานใหญ่ เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกันงานที่ต้องอาศัยทักษะความชำนาญพิเศษ งานศิลปะ หรืองานที่มีความเกี่ยวข้องกับอารมณ์ความรู้สึกของคน ก็เป็นงานที่ไม่อาจนำหุ่นยนต์มาทดแทนได้ เช่น การให้บริการของพนักงานโรงแรม การบริการให้คำปรึกษาต่างๆ เป็นต้น


เมื่อเราสามารถแยกงานทั้ง 2 ส่วนออกมาได้แล้ว ต่อไปที่ต้องทำคือ การเตรียมความพร้อมของคนให้ทำงานร่วมกันกับหุ่นยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องอาศัยทั้งการ Reskill และ Upskill ให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่นำมาใช้ ซึ่งจะทำให้คนทำงานร่วมกับหุ่นยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยไม่ต้องเกรงกลัวว่าหุ่นยนต์ เทคโนโลยี หรือปัญญาประดิษฐ์ จะเข้ามาทดแทน “ตำแหน่ง” ของตนเองได้เลย


ความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งที่เกิดขึ้น คือ เมื่อไหร่ที่เราควรเปลี่ยน และเราพร้อมหรือยังที่จะเปลี่ยน ทั้งนี้ต้องดูกลุ่มคนที่จะทำการเปลี่ยนแปลงไปพร้อมกับเราด้วย ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีประเด็นความสนใจที่แตกต่างกัน เช่น ผู้บริหาร มักจะมองถึงภาพอนาคตของธุรกิจที่จะต้องก้าวไปข้างหน้า ในขณะที่คนทำงานก็จะมองว่าทำเพื่ออะไร ทำแล้วได้อะไร เงินเดือนขึ้นหรือไม่


ดังนั้นแล้วเราจึงต้องทำการสื่อสารให้กลุ่มคนที่แตกต่างกัน ได้เข้าใจถึงความจำเป็นในการที่เราจะต้องเปลี่ยน เพราะเพียงแค่เราไม่เปลี่ยน โลกก็เปลี่ยนเราแล้ว และเมื่อทำการเปลี่ยนแปลงแล้ว ต้องคอยกลับมาย้อนดูอยู่เสมอว่า การเปลี่ยนแปลงนี้ ยังคงสามารถตอบโจทย์องค์กรของเราหรือไม่ เพื่อทำให้เราไม่หลงทิศทาง การเปลี่ยนแปลงย่อมมีการสะดุดล้มได้ในบางครั้ง ซึ่งความผิดพลาดถือว่าเป็นการเรียนรู้แบบหนึ่ง ไม่เช่นนั้นการพัฒนาก็จะไม่เกิดขึ้น เพียงแต่เราต้องเรียนรู้ให้เร็วและให้ทันต่อทุกการเปลี่ยนแปลง เมื่อเราพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นแล้ว หุ่นยนต์ก็เป็นเพียงแค่อีกหนึ่งสิ่งอำนวยความสะดวกที่มาช่วยในการทำงานของเรา แต่ไม่มีทางที่ “หุ่นยนต์” จะมาแทนที่ “คน” ได้อย่างแน่นอน

สรุปการบรยายจาก คุณฑิฆัมพร เดชานุภาพ ผู้จัดการแผนกทรัพยากรมนุษย์ บริษัท กู๊ดเยียร์ (ประเทศไทย) จำกัด, คุณวรินทร์ รอดโพธิ์ทอง นักวิชาการชำนาญการพิเศษ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม


Cover Photo: freepik

ดู 97 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page