ถอดรหัสภาวะผู้นำ กับ ผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร
“การทำงานร่วมกัน ต้องถอดหัวโขน คุยกันด้วยหลักวิชา ให้คุณค่าทุกคนในทีม ผู้นำที่ดีต้องสามารถดึงจุดแข็งของทีมออกมาได้ และ ต้องให้เครดิตทุกคนในทีม”
ในปี 2561 ที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ที่สะกดสายตาคนทั่วโลกให้มองมาที่ประเทศไทย เป็นเหตุการณ์ที่เรียกได้ว่าเป็นภาวะวิกฤติ ซึ่งมีผลต่อความเป็นความตายของนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมี 13 ชีวิต ซึ่งติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย จากเหตุการณ์นี้นอกจากเราจะได้เห็นความร่วมมือร่วมใจจากคนไทยในชาติ เรายังได้เห็นแรงสนับสนุนจากนานาประเทศ ทำให้ปฏิบัติการช่วยชีวิตครั้งนี้กลายเป็นภารกิจสำคัญระดับโลก
ท่ามกลางสภาวะบีบคั้นต้องทำงานแข่งกับเวลา ต้องเผชิญกับปัญหาอุปสรรค กินเวลาในการปฏิบัติภารกิจกว่า 18 วัน ทำให้เราได้รับรู้ถึงความมีภาวะผู้นำของข้าราชการไทย อย่าง ท่านณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ในขณะนั้น ผู้ทำหน้าที่เป็นประธานศูนย์ปฏิบัติการ ที่มีบทบาทเป็นศูนย์กลางของการปฏิบัติภารกิจของทุกภาคส่วนทั้งตำรวจ ทหาร พลเรือน ไทยและต่างชาติ
ด้วยการตัดสินใจที่ชาญฉลาด รอบครอบ ในครั้งนั้นของท่านผู้ว่าฯ และการทำงานอย่างเต็มความสามารถของทีมงานทุกฝ่ายจึงนำไปสู่ความสำเร็จในการช่วยชีวิต ทีมหมูป่า ทั้ง 13 คน โดยภารกิจในครั้งนี้ทำให้ทีมกู้ภัยได้รับรางวัลสำคัญ อาทิ Asia Society มอบ รางวัล Asia Game Changer Awards 2018 ในฐานะผู้สร้างแรงบันดาลใจให้คนทั่วโลกฯ ให้กับทีมกู้ภัยถ้ำหลวง ในขณะที่ Wharton School ให้การยกย่อง ทีมกู้ภัยถ้ำหลวง ใน 4 ด้าน ประกอบด้วยการตัดสินใจที่เด็ดเดี่ยว (Vision and Decisive decision making)การวางแผนที่ดี (Well Plan) การจัดการอย่างมีระบบ (Organization) และความมีวินัย (Discipline)
วันนี้ PMAT ได้รับโอกาส เข้าสัมภาษณ์ท่านผู้ว่าฯ ในประเด็นเกี่ยวกับหลักคิดและแนวทางการปฏิบัติงานในฐานะผู้นำในภาวะวิกฤติ และขอข้อแนะนำในการเตรียมความพร้อมสู่การเป็นผู้นำในรูปแบบที่เรียกว่า Disruptive Leader เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ DisruptiveWorld ท่านได้ให้คำแนะนำที่มีคุณค่ากับเราดังนี้
มีวิสัยทัศน์ จัดการเยี่ยม ประเมินผลชัดเจน คือหัวใจสำคัญของการเป็นผู้นำ
Disruptive leader ในแบบฉบับของท่านผู้ว่าฯ คือบุคคลที่มีวิสัยทัศน์ มีกระบวนการจัดการที่ดีควบคู่กับการประเมินผลการทำงานอยู่เสมอ พร้อมทั้งต้องมีการตัดสินใจที่ถูกต้อง เด็ดขาด และ ทันเหตุการณ์ นอกจากนี้ ผู้นำที่ดี ยังต้องถ่ายทอดและแนะนำลูกน้องได้ ซึ่งในการที่จะทำเช่นนั้นได้ ผู้นำจะต้องมีความใฝ่รู้ มีธรรมะของพรหมวิหารสี่ (เมตตา, กรุณา, มุทิตา, อุเบกขา) และ สุดท้ายผู้นำต้องมีคุณธรรมและความโปร่งใส
8 คุณลักษณะของผู้นำในยุค DISRUPTIVE WORLD
วิสัยทัศน์ที่ดี (Vision)เป็นคุณสมบัติสำคัญที่สุดเพราะส่งผลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวขององค์กร ผู้นำที่ดีต้องสามารถทำให้ทีมมองเห็นภาพอนาคต และกระตุ้นให้ทีมมีความมุ่งมั่นในการสร้างสิ่งที่ดีขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นผู้นำต้องมองไกล และสนับสนุนให้ทีมเดินไปสู่จุดหมายอย่างเข้มแข็ง
POSDCoRB ยังใช้ได้ดี ทฤษฎีกระบวนการบริหารของ Luther Gulick and Lyndall Urwick อย่าง POSDCoRB ยังใช้ได้ดี ผู้นำที่ดีนอกจากจะต้องมีวิสัยทัศน์แล้ว มีการจัดการที่ดีในทุกด้าน จากภารกิจกู้ภัยถ้ำหลวงท่านผู้ว่าฯ ได้เรียกประชุมทุกฝ่าย เพื่อกำหนดแผนการรับมือสถานการณ์ โดยเริ่มจากการกำหนดแผนการ กำหนดวิธีการ พิจารณาถึงการเตรียมการจัดกำลังพล ของแต่ละฝ่าย ทั้งกำลังทหาร เจ้าหน้าที่ป่าไม้ นักดำน้ำ หน่วยสูบน้ำ ทีมรังนก ฯลฯ และบุคลากรในด้านต่าง ๆ อีกมากมาย ทั้งทีมหน้าบ้านที่เป็นหน่วยกู้ภัย และหลังบ้านที่ทำหน้าที่สนับสนุนการกู้ภัย เน้นการสั่งการที่ชัดเจน การประสานงาน ทั้งภายในและภายนอก ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จัดการอุปสรรคอย่างรอบครอบ
ประเมินผล (Assessment) เปรียบเทียบผลการปฏิบัติกับเป้าหมายที่ตั้งไว้ วิเคราะห์ว่าอะไรคือปัจจัยความสำเร็จ หรืออุปสรรคที่ต้องแก้ไข พร้อมปรับแผนงานให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ ที่สำคัญคือ ผู้นำต้อง ตระหนักว่าการประเมินผลเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้ ต้องทำอย่างจริงจัง และตรงไปตรงมา
มีการตัดสินใจที่ดี (Good Decision) ผู้นำที่ยิ่งใหญ่และประสบความสำเร็จ มีการตัดสินใจที่ดี เด็ดขาด และรวดเร็ว แม้ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก หรือในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยง สูง ภารกิจกู้ภัยครั้งนี้ นับว่าเป็นภารกิจที่อยู่ในสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงมาก การตัดสินใจ ทุกครั้งต้องรวดเร็วและถูกต้อง เพราะทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องและส่งผลถึงชีวิตผู้คน ทั้งผู้ประสบภัย รวมไปถึงทีมกู้ภัยทุกคนด้วย
สามารถให้คำแนะนำได้ (Coaching and Mentoring) ผู้นำต้องสามารถดึงศักยภาพของทีมออกมา เพื่อปฏิบัติงานให้ประสบความสำเร็จ ผู้นำที่ดีไม่ใช่คนที่ทำเองได้ทั้งหมด ดังนั้น การให้คำแนะนำทีมจึงเป็นทักษะหนึ่งที่มีความสำคัญในการเป็นผู้นำ โดยท่านกล่าวว่า
"ผู้นำที่ดี จะต้องถ่ายทอด สอน แนะให้ลูกน้องไปทำตามเองได้ ผู้นำที่ดีไม่ใช่การลงไป ทำงานเอง ผู้นำที่ดีต้องรู้ว่าจะสอนลูกน้องให้ไปจัดการตรงไหนอย่างไรให้ได้ตามที่เรากำหนด ผู้นำ จะมีความสามารถมากแค่ไหนแต่ถ้าไม่สามารถแนะนำให้ลูกน้องไปจัดการงานต่าง ๆ ได้ ก็..ยังถือว่าขาดคุณสมบัติของผู้นำ"
ใฝ่หาความรู้ (Putting Effort Persistently) เพียงแค่ความรู้ความชำนาญในหน้าที่และความรับผิดชอบที่มียังไม่เพียงพอสำหรับการเป็นผู้นำ ดังนั้นผู้นำที่ดีจึงต้องเป็นบุคคลที่แสวงหาความรู้อยู่ตลอดเวลา แหล่งความรู้ของ ท่านผู้ว่าฯ ก็คือการอ่านหนังสือ ลองปฏิบัติ ถามผู้เชี่ยวชาญ หรือหาที่ปรึกษา ท่านย้ำว่าอย่าคิดเอง อย่าตัดสินใจเองถ้าไม่รู้
ยึดหลัก พรหมวิหาร 4 (Four Sublime States of Mind) คือ เมตตา มีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น อยากให้ผู้อื่นเป็นสุข ปรารถนาดีต่อทุกคน กรุณา โดยการช่วยเหลือผู้อื่น อยากให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ มุทิตา มีความยินดีเมื่อผู้อื่นมีสุข ไม่อิจฉาริษยา ไม่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ อุเบกขา รู้จักการวางเฉย มีใจเป็นกลางไม่เอนเอียงเพราะรักหรือเกลียด เป็นหลักธรรมที่มีความสอดคล้องกับภาวะผู้นำเป็นอย่างมาก เพราะเป็นแนวทาง ที่จะช่วยให้ผู้นำประสบความสำเร็จในการประพฤติตนและปฏิบัติต่อผู้อื่น
ขาดไม่ได้คือ ต้องมีคุณธรรมและความโปร่งใส (Morality & Accountability) การตัดสินใจของผู้นำต้องยึดถือความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ทุกอย่างเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ขององค์กร หรือถ้าเป็นราชการก็ต้องเพื่อประโยชน์ของประชาชน หมู่มาก
DISRUPTIVE LEADER Model ในแบบฉบับของผู้ว่าฯ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร
เหตุการณ์ระทึกขวัญผ่านไปด้วยดีจากความร่วมมือ และ การวางแผนที่ดี ไม่เพียงแต่เราจะยินดีกับการรอดชีวิตของผู้ประสบภัย เหตุการณ์นี้ยังทำให้เรา ได้เห็น การทำงานของ ผู้นำในภาวะวิกฤติ ที่ควรค่าแก่การถอดรหัสความคิด ซึ่งเราสามารถนำมุมคิดและหลักในการเป็นผู้นำของท่านผู้ว่า มาปรับใช้เพื่อเป็นแนวทางในการทำงาน และ การดำเนินชีวิต ได้เป็นอย่างดี
Comments