top of page
รูปภาพนักเขียนDr. Nutavoot Pongsiri

การคิดเชิงวิจารณญาณ (Critical Thinking)

อัปเดตเมื่อ 22 ธ.ค. 2563

ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ | วารสารการบริหารฅน 4/2560

การเติบโตของต้นไม้ใหญ่ เริ่มจากแก่นกลางและขยายออกไปปีแล้วปีเล่าเกิดเป็นวงหลายๆ ชั้นเรียกว่าวงปี ลำดับขั้นของการเรียนรู้ก็เหมือนกับวงปีของต้นไม้ ขั้นต้นคือวงในสุด การเรียนรู้ต้องเริ่มต้นด้วยการจำ (Remember) ถัดมาคือการทำความเข้าใจ (Understand) ในสิ่งที่จำ จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ (Apply) และเมื่อเรียนรู้มากขึ้น ได้รับข้อมูลและมีประสบการณ์ที่หลากหลายขึ้น จะช่วยให้สามารถวิเคราะห์ (Analyze) โดยอาศัยหลักเกณฑ์ เครื่องมือและวิธีการต่างๆ ทักษะดังกล่าวนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพในการประเมินผล (Evaluate) เพื่อพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุด และการเรียนรู้ขั้นสูงสุด คือการใช้ความรู้เพื่อการสร้างสรรค์ (Create) สิ่งใหม่ๆ แตกต่างจากกรอบเดิมๆ พัฒนาการด้านการเรียนรู้ของมนุษย์จะเร็วหรือช้า และไปได้ถึงขั้นไหน ต้องอาศัยประสิทธิภาพของกระบวนการคิด ซึ่งแบ่งออกเป็น คิดแบบเชื่อมโยง คิดบนหลักเหตุและผล คิดแบบรอบด้าน และคิดนอกกรอบนอกกฎเกณฑ์


ภายใต้สภาพการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบัน องค์กรต่างๆ แสวงหา การคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creativity) ซึ่งจะช่วยขยายขอบเขตความคิดเดิมออกไปจากกรอบความคิดที่มีอยู่ สู่ความคิดใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน เพื่อค้นหาแนวทางที่แตกต่าง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสินค้าและบริการ จากสิ่งเดิมไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า อย่างไรก็ตามในบางสถานการณ์ เช่น ภายใต้สถานการณ์วิกฤต การคิดเชิงสร้างสรรค์จะมีประโยชน์น้อยกว่าการคิดเชิงวิจารณญาณ (Critical Thinking)


การคิดเชิงวิจารณญาณ (Critical Thinking) เป็นการพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่งโดยใช้เหตุและผล รวมทั้งการเชื่อมโยง วิเคราะห์ แสวงหาแนวทางต่างๆ เพื่อหาคำตอบที่สมเหตุสมผล มากกว่าจะคล้อยตามความเชื่อหรือข้ออ้างเดิมๆ เมื่อเทียบกับระดับขั้นของการเรียนรู้ การคิดเชิงวิจารณญาณ อยู่ในขั้นประเมิน (Evaluate) ซึ่งเป็นขั้นตอนของการตัดสินและพิจารณาคุณค่าของสิ่งต่างๆ โดยที่ยังมีการโต้แย้ง ถกเถียงเกี่ยวกับเนื้อหา ต้องหาข้อมูลมาสนับสนุนในข้อโต้แย้งดังกล่าวก่อน จึงจะยอมรับเป็นข้อสรุป


การฝึกเพื่อให้เป็นนักคิดเชิงวิจารณญาณ (Critical Thinker) ต้องใช้สมองซีกซ้ายเป็นหลัก ซึ่งเป็นการคิดเชิงลึก คิดอย่างละเอียด จากเหตุไปสู่ผล ตลอดจนการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ในเชิงเหตุและผล การคิดแบบนี้มีประโยชน์ หลายประการ เช่น

1. ช่วยกำหนดเป้าหมายให้คิดอย่างถูกทาง

2. สามารถระบุประเด็นในการคิดได้อย่างชัดเจน

3. มีการประมวลข้อมูลทั้งทางด้านข้อเท็จจริงและความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่คิด

ทั้งทางกว้าง ทางลึก

4. วิเคราะห์ข้อมูลและเลือกข้อมูลที่จะใช้ในการคิดได้

5. มีการพิจารณาประเมินข้อมูลและทางเลือกที่หลากหลาย

6. ใช้หลักเหตุผล พิจารณาข้อมูลและเสนอคำตอบ หรือทางเลือกที่สมเหตุสมผลได้

7. เลือกลงความเห็นในประเด็นที่คิดได้


ติดตามเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ วารสารการบริหารฅน People Magazine Vol.4.2560 Cover Story - การคิดเชิงวิจารณญาณ (Critical Thinking) ผู้เขียน ดร.ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ
ดู 10,498 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page