top of page
รูปภาพนักเขียนรศ.ดร. สมบัติ กุสุมาวลี

การมาเยือนของ Peter M. Senge

รศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี | People Magazine Vol.2.2559

Knowledge is Power

หากความรู้คือพลังสำคัญ ที่เป็นตัวกำหนดทิศทางความเป็นไปและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆอย่างสร้างสรรค์มากมายในโลกใบนี้


คนผู้ทรงด้วยความรู้ก็เช่นกัน ย่อมเป็นผู้ที่มีพลังในการกำหนดทิศทางความเป็นไปและก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆอย่างสร้างสรรค์มากมายในโลกใบนี้


ในหลายๆครั้ง มีประจักษ์พยานมากมายที่สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของผู้ทรงความรู้ทรงภูมิปัญญาจากซีกโลกหนึ่ง ส่งอิทธิพลทางความรู้มาถึงบ้านเราในอีกซีกโลก จะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม


ข้อความข้างต้นนี้เป็นจริงหรือไม่ อยากให้ลองดูประจักษ์ชิ้นดังต่อไปนี้


เมื่อปี พ.ศ. 2546 รัฐบาลไทยขณะนั้นมีแนวนโยบายที่ต้องการปฏิรูประบบราชการ โดยได้มีการจัดตั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูประบบราชการได้แก่ คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และได้มีการตรากฎหมายที่สำคัญฉบับหนึ่งซึ่งเป็นตัวช่วยสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบราชการไทย ได้แก่


พระราชกฤษฎีกา (พรฎ.) ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546

พรฎ.ฉบับนี้ มักจะถูกเรียกขานกันในหมู่คนที่คุ้นเคยว่า พรฎ. จีจี (GG) อันเป็นคำย่อมาจากคำเต็มๆที่ว่า Good Governance ทั้งนี้เนื่องมาจากวัตถุประสงค์ของการตรากฎหมายฉบับนี้ ได้รับอิทธิพลทางความคิดที่สำคัญมาจากองค์กรโลกบาลที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อรัฐบาลไทยในขณะนั้น ดังเช่น ธนาคารโลก ที่ต้องการผลักดันหรือกำกับให้รัฐบาลไทยยุคหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ฟองสบู่แตกเมื่อปี พ.ศ. 2540 ทำการปฏิรูประบบราชการตามแนวคิด Good Governance ซึ่งธนาคารโลกใช้เป็นแนวทางในการปฏิรูประบบราชการในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก


กล่าวอีกนัยหนึ่ง การมีระบบราชการที่ไร้ประสิทธิผล ขาดธรรมาภิบาล ไม่ทันสมัย ปรับตัวไม่ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คือปัจจัยที่สำคัญประการหนึ่งของการก่อให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2540 จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการปฏิรูประบบราชการขนานใหญ่


ใน พรฎ. GG ฉบับนี้ มีประเด็นและแง่มุมที่น่าสนใจอยู่หลายประการ โดยเฉพาะในแวดวงวิชาการด้านการบริหารจัดการองค์การ ควรศึกษาให้ความสนใจเป็นพิเศษ แต่สำหรับผมเอง พบว่ามีจุดที่น่าสนใจเป็นพิเศษประการหนึ่งอยู่ที่ “ความทรงอิทธิพลทางความคิดของแนวคิดทฤษฎีหนึ่ง สามารถเข้ามีบทบาทในการกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบราชการของประเทศหนึ่ง ๆได้”


การที่รัฐบาลประเทศหนึ่งมีการตรากฎหมายเพื่อสนับสนุนแนวคิดทฤษฎีองค์การทฤษฎีหนึ่ง ย่อมมิใช่เรื่องธรรมดา ดังเช่นที่ รัฐบาลไทยขณะนั้นมีการตรากฎหมายที่ช่วยสนับสนุนแนวคิดทฤษฎีองค์การทฤษฎีหนึ่งที่กำลังเริ่มมีความแพร่หลายอยู่ในขณะนั้น ทฤษฎีนั้นคือ แนวคิดว่าด้วย “องค์การแห่งการเรียนรู้” (Learning organization)


กล้าพูดได้ว่า ที่ผมกล่าวมานี้ ไม่ใช่สิ่งที่เกินจริงเลย เนื่องจาก หากท่านผู้อ่านลองหยิบกฎหมายฉบับนี้ (ที่ยังคงบังคับใช้มาจนถึงปัจจุบัน) มาเปิดอ่าน แล้วลองพลิกไปดู ที่หมวด 3 ในมาตรา 11


จะพบข้อความ ดังนี้

“หมวด ๓ การบริหารราชการเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มาตรา ๑๑ ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็น องค์การแห่งการเรียนรู้ อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่างๆ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของส่วนราชการให้สอดคล้องกับการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามพระราชกฤษฎีกานี้”


จะเห็นได้ว่า กฎหมายฉบับนี้ แทบจะบ่งบอกเจตนารมณ์อย่างค่อนข้างชัดเจนว่า ต้องการให้ส่วนราชการไทยมีการพัฒนาองค์กรตนเองให้มีลักษณะเป็น “องค์การแห่งการเรียนรู้” ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ดีที่ต้องการให้หน่วยราชการไทยทำงานอยู่บนฐานของความรู้มากกว่าความรู้สึก มีการเรียนรู้ที่รวดเร็วและเหมาะสมกับสถานการณ์ มีวิสัยทัศน์ ปฏิบัติงานก่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ...


อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบนี้ ย่อมมีคำถามตามมาว่า “องค์การแห่งการเรียนรู้” คืออะไร? และที่สำคัญคือ “ใคร” คือเจ้าแห่งทฤษฎีและผู้นำทางความคิดว่าด้วย “องค์การแห่งการเรียนรู้” ? เพื่อที่จะได้นำเอาแนวคิดของเขามาใช้เป็นแนวทางการพัฒนาองค์กรของตนเองให้ “มีลักษณะเป็น องค์การแห่งการเรียนรู้ อย่างสม่ำเสมอ” ตามเจตนารมณ์ของพรฎ. GG


ผมจำได้ว่า ในขณะนั้น ผู้บริหารหน่วยราชการและผู้ปฏิบัติงานด้านการพัฒนาระบบราชการหลายหน่วยต่างมุ่งเสาะหาแนวคิด ตัวแบบและต้นแบบทางความคิด เพื่อจะได้นำมาใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาองค์กรตนเองให้ “มีลักษณะเป็น องค์การแห่งการเรียนรู้ อย่างสม่ำเสมอ” มีนักคิดนักวิชาการหลายคน ผลงานหลายชิ้นได้ถูกกล่าวถึงกัน แต่สุดท้ายแล้วแทบทุกนิ้วล้วนชี้นิ้วพุ่งไปที่ หนังสือเล่มหนึ่ง ที่ชื่อว่า


The Fifth Discipline: The Art & Practice of The Learning Organization

เขียนโดยบุคคลที่ชื่อว่า ปีเตอร์ เอ็ม เซ็งเก้ (Peter M. Senge)

จะว่าไปแล้ว หากกล่าวกันในแวดวงวิชาการด้านการบริหารจัดการองค์การ โดยเฉพาะนักวิชาการที่มีการติดตามแนวคิดที่ทันสมัยอยู่เสมอนั้น ชื่อของปีเตอร์ เซ็งเก้ และแนวคิดว่าด้วย องค์การแห่งการเรียนรู้ ก็เป็นที่รู้จักกันมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากผลงาน The Fifth Discipline: The Art & Practice of The Learning Organization ได้ถูกตีพิมพ์และนำเสนอต่อบรรณพิภพด้านการบริหารจัดการมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1990 (พ.ศ. 2533)

และนับจากนั้น ชื่อของปีเตอร์ เซ็งเก้ ได้กลายเป็นชื่อหนึ่งที่ติดอยู่บนริมฝีปากแทบจะทุกครั้งของผู้ที่กล่าวถึงแนวคิดการบริหารจัดการองค์กรยุคใหม่ รวมถึง แนวคิดของเขาที่ว่าด้วย “วินัย 5 ประการ” และ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง แนวคิดว่าด้วย “องค์การแห่งการเรียนรู้”


กล่าวได้ว่า แทบไม่มีหนังสือ ตำรา บทความและข้อเขียนต่างๆที่เขียนเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์การสมัยใหม่เล่มใด ที่ไม่มีการกล่าวอ้างอิงถึง ชื่อของ ปีเตอร์ เซ็งเก้ หนังสือ The Fifth Discipline… และ แนวคิดว่าด้วย “องค์การแห่งการเรียนรู้” ของเขา


John Micklethwait กับ Adrian Wooldridge นักเขียนและนักคอมเม้นท์ (Commentators) ชื่อดังจากวารสาร The Economist เขียนไว้ในหนังสือของพวกเขา The Witch Doctors: What the Management Gurus Are Saying, Why It Matters and How to Make Sense of It. (1997) เปรียบ ปีเตอร์ เซ็งเก้ ว่าเป็นเสมือน “ศาสดา” (Prophet) ของแนวคิดองค์การแห่งการเรียนรู้ (หน้า 139)


อย่างไรก็ตาม แม้ชื่อของ ปีเตอร์ เซ็งเก้ จะโด่งดังเป็นพลุแตกมาตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ.1990 (พ.ศ. 2533) และแม้ประเทศไทยเราจะเป็นประเทศหนึ่งที่ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องของการเชื้อเชิญนักคิดนักเขียนชื่อดังระดับชั้นนำของโลกมากล่าวปาฐกถาในงานสำคัญ ๆ ต่าง ๆ แต่ไม่น่าเชื่อว่า ผมยังไม่เคยได้ข่าวว่ามีหน่วยงานใดของไทยที่เชิญ ปีเตอร์ เซ็งเก้ มาเป็นองค์ปาฐกเลย!!! (หรือถ้าผมพลาดข่าวไป ก็ต้องขออภัยหรือช่วงแจ้งให้ผมทราบด้วยครับ)


และแล้ว เป็นที่น่ายินดีว่า ในปีนี้ พ.ศ. 2559 ทางสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) ได้มีการประชุมหารือกันเพื่อเตรียมการเฉลิมฉลองการครบรอบ50 ปีของการก่อตั้งสมาคมทางวิชาชีพแห่งนี้ อีกทั้งเพื่อการเผยแพร่ให้ความรู้ภูมิปัญญาอันทรงคุณค่าแก่ผู้คนที่เกี่ยวข้องในสังคมไทย รวมถึงผู้คนในภูมิภาคประชาคมอาเซียนด้วย สมาคมฯ PMAT จึงเล็งหาบุคคลที่ควรค่าแก่การเชื้อเชิญมาเป็นองค์ปาฐกในงานครบรอบ 50 ปีของสมาคมแห่งนี้ ผลปรากฎว่า ฉันทามติของที่ประชุมเคาะไปที่ ชื่อของ “ปีเตอร์ เอ็ม เซ็งเก้” (Peter M. Senge) ให้เป็นบุคคลที่ควรค่าแก่การทาบทามเชื้อเชิญให้มาเป็นองค์ปาฐกสำหรับงานการสัมมนาประจำปี พ.ศ. 2559 และถือเป็นงานเฉลิมฉลองการครบรอบ 50 ปีของสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) พร้อมกันไปด้วย โดยได้มีการกำหนดวันจัดงานประชุมสัมมนาประจำปีของสมาคมฯ เมื่อวันที่ 27 และ 28 มิถุนายน ศกนี้ ท่านปีเตอร์ เซ็งเก้ ได้ตอบรับการมาเป็นองค์ปาฐกในวันที่ 27 มิ.ย. และ จะเป็นวิทยากรนำการสัมมนาเชิงปฏิบัติการในเช้าวันที่ 28 มิ.ย. ด้วย


“ปีเตอร์ เอ็ม เซ็งเก้” (Peter M. Senge) คือใคร? มีความสำคัญอย่างไร? สำหรับบรรดาคอนักอ่านนักฟัง ประเภท “แฟนพันธุ์แท้” ที่ชอบติดตามอ่านผลงานของนักคิดนักเขียนระดับกูรูชั้นนำของโลกด้านการบริหารจัดการ ผมเชื่อว่าแทบจะไม่มีใครไม่รู้จักชื่อของ “ปีเตอร์ เอ็ม เซ็งเก้” (Peter M. Senge) (แต่อ่านหรือฟังแนวคิดของเขาแล้วจะ “เซ็งหรือจะสนุก” นั่นก็อีกเรื่องหนึ่งนะครับ)


สำหรับผมเองในฐานะนักวิชาการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาองค์การ ที่สนใจติดตามผลงานของ Senge นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 1990 ที่หนังสือเรื่อง The Fifth Discipline ได้รับการตีพิมพ์ออกมานำเสนอปรากฎต่อสายตาของโลกนักอ่าน จนขึ้นหิ้งเป็นหนังสือประเภท Bestseller ระดับตำนานคลาสสิกด้านการบริหารจัดการ


ผมได้ติดตามอ่านและศึกษาแนวความคิดของเขา มานับตั้งแต่ปี ค.ศ.1990 จวนจนถึงปัจจุบัน รู้สึกตื่นเต้นระคนกับยินดีที่ทราบว่าท่านเซ็งเก้จะมาเยือนเมืองไทย ดังนั้นจึงขออาสาที่จะเข้ามาทำหน้าที่ “แนะนำ” ผลงานและแนวความคิดของท่านเซ็งเก้ ให้ท่านผู้อ่านชาวไทยได้รู้จักกับกูรูด้านการบริหารจัดการท่านนี้


ในเบื้องต้นนี้ ผมพบว่าแนวคิดของท่าน ปีเตอร์ เซ็งเก้ มีทั้ง “ความเป็นระบบ” แบบวิศวกร แต่ก็อุดมไปด้วย “ความละเมียดละไม” แบบนักปรัชญา .... มีทั้ง “ความเป็นศาสตร์” แบบนักวิชาการ แต่ก็แทรกซึมไปด้วย “ความเป็นศิลป์” แบบนักปฏิบัติผู้มีสุนทรียะ... มีทั้ง องค์ความรู้ “ด้านการบริหารจัดการ” แต่ก็ผนวกกับแนวคิด “วิทยาศาสตร์ใหม่” (New Science)... มีทั้ง “ความเป็นตะวันตก” แบบนักวิชาการฝรั่ง แต่ก็ยังผสานเข้ากับ “ความเป็นตะวันออก” แบบศาสนิกชนชาวเอเชีย ได้อย่างน่าเหลือเชื่อ

ผมเชื่อได้ว่า ผู้อ่านจะต้องประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งกับแนวคิดเชิงพุทธแบบ “เซน” ของเซ็งเก้

ดู 689 ครั้ง0 ความคิดเห็น

โพสต์ล่าสุด

ดูทั้งหมด

Peter Senge Capturing

Comments


bottom of page