ผศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี | วารสารการบริหารฅน 4/2559
ถอดรหัส “พระมหาชนก” จากมุมมองด้านการพัฒนามนุษย์และองค์การอัจฉริยภาพอันสร้างสรรค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
“พระมหาชนก” ถือเป็นพระราชนิพนธ์ชิ้นสำคัญชิ้นหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ได้รับความชื่นชมและยกย่องทั้งในแง่ของคุณค่าความงดงามทางภาษา คุณค่าในเชิงคติธรรมและการนำไปตีความในสาขาวิชาการด้านต่างๆ อย่างกว้างขวาง สำหรับบทความชิ้นนี้ เป็นความพยายามของผู้เขียนที่จะ “อ่านและตีความ” คุณค่าของพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” จากมุมมองเล็กๆของนักวิชาการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การคนหนึ่งซึ่งต้องการใช้สติปัญญาเท่าที่พึงจะมีสะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การอันยิ่งใหญ่ที่บรรจุอย่างลึกซึ้งอยู่ในวรรณกรรมเพชรน้ำเอกชิ้นนี้ โดยผู้เขียนต้องการชี้ให้เห็นว่าพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” ถือเป็นหนังสือตำราชิ้นเอกที่แสดงให้เห็นถึงแนวคิดการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชไว้ทั้งอย่าง “ชัดเจน” และที่ “ซ่อนเร้นแนบนัย” ซึ่งต้องใช้สติปัญญาในการอ่านและตีความอย่างแยบคาย
พระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” กับแนวคิดการพัฒนามนุษย์และองค์การ
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเมื่อได้ทรงสดับพระธรรมเทศนาชาดกเรื่องนี้แล้ว ได้ทรงบำเพ็ญวิริยะศึกษาค้นคว้า, แปลและดัดแปลงเป็นพระราชนิพนธ์เรื่อง “พระมหาชนก” ด้วยภาษาที่ง่ายขึ้นแต่วิจิตรงดงามยิ่ง แลเมื่อผู้เขียน – ในฐานะของนักวิชาการด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การ – ได้อ่านด้วยความประทับใจทั้งในสุนทรียรสทางภาษาอันอลังการ (ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ), ความวิจิตรพิสดารของภาพประกอบ แล้วพินิจพิเคราะห์ตัวบทเนื้อหาของหนังสือเล่มนี้ผ่านเลนส์ของวิชาการด้านการพัฒนามนุษย์และองค์การ และด้วยสติปัญญาอันจำกัดของผู้เขียนเอง ผู้เขียนพบว่าตัวบทพระราชนิพนธ์ “พระมหาชนก” มีกลวิธีการเขียนและการนำเสนอที่ซ่อนเร้น “คติธรรม” อันจะเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์กรไว้อย่างแยบยลยิ่งนัก โดยในที่นี้ ผู้เขียนจะขอนำเสนอคติธรรมสำหรับวิชาการและเป็นแนวปฏิบัติสำหรับแวดวงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และองค์การไว้ 3 ประการ ดังนี้
1) คติธรรมการพัฒนามนุษย์ให้มี “ความเพียรโดยธรรม”
2) คติธรรมการพัฒนามนุษย์ตามแนวทาง “การอนุบาลต้นมะม่วง”
3) คติธรรมการพัฒนาองค์การโดย “การตั้งสถาบันอบรม”
การพัฒนามนุษย์ให้มี “ความเพียรโดยธรรม”
ดังที่ได้กล่าวแต่เบื้องต้นแล้วว่าความโดดเด่นของวรรณคดีชาดก “มหาชนก” คือเรื่องของการบำเพ็ญความเพียรหรือวิริยบารมี ผู้รู้ที่กล่าวถึงคติธรรมเรื่องนี้มักจะยกเอาตอนสำคัญคือ “พระมหาชนกว่ายน้ำอยู่ในมหาสมุทร 7 วัน” มาเป็นอุทาหรณ์ พลตรีหลวงวิจิตรวาทการกล่าวถึงข้อความในชาดกต้นตำรับของเรื่องนี้ว่าเมื่ออ่านแล้วสามารถจินตนาการวาดรูปลักษณะของพระมหาชนกว่า
“…เป็นผู้มีมานะเข้มแข็งมาแต่เด็ก... พออายุ 16 ปี ก็สามารถลงเรื่อสำเภา โดยอ้างว่าจะมาทำการค้าขายทางสุวรรณภูมิ (คือดินแดนที่เป็นเมืองเราในเวลานี้) มาตามทางเรือแตก คนอื่นๆจมน้ำ และเป็นอาหารของปลาร้ายถึงแก่ความตายหมดสิ้น เหลือแต่พระมหาชนกองค์เดียวยังมีชีวิตอยู่ในน้ำได้ถึง 7 วัน”
ผู้อ่านจะสามารถซึมซับความข้อนี้ได้อย่างละเอียดพิสดารมากขึ้นในพระราชนิพนธ์พระมหาชนก โดยเฉพาะในบทที่ ๑๗ อันเป็นบทสนทนาระหว่างพระมหาชนกกับพระมารดา ซึ่งเป็นบทที่สะท้อนถึง “ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยว” ของพระมหาชนก
“...”ข้าแต่พระมารดา หม่อมฉันจักไปเมืองสุวรรณภูมิ.” พระนางตรัสห้ามว่า : “ลูกรัก ชื่อว่ามหาสมุทรสำเร็จประโยชน์น้อย มีอันตรายมากอย่าไปเลย. ทรัพย์ของพ่อมีมากพอประโยชน์ เอาราชสมบัติแล้ว.” พระกุมารทูลว่า : “หม่อมฉันจักไปแท้จริง.” ทูลลาพระมารดาถวายบังคม กระทำประทักษิณ แล้วออกไปขึ้นเรือ.”
แต่เมื่อขึ้นเรือ แล่นเรือมาได้ 7 วัน ต้องเผชิญกับภาวะ “เรือแตก”
“พวกพาณิชประมาณเจ็ดร้อยคนขึ้นสู่เรือ. เรือแล่นไปได้เจ็ดร้อยโยชน์ ใช้เวลาเจ็ดวัน. เรือแล่นด้วยกำลังคลื่นที่ร้ายกาจ ไม่อาจทรงตัวอยู่ได้ แผ่นกระดานก็แตกด้วยกำลังคลื่น น้ำเข้ามาแต่ที่นั้นๆ เรือก็จมลงในกลางมหาสมุทร. มหาชนกลัวมรณภัย ร้องไห้คร่ำครวญ กราบไหว้เทวดาทั้งหลาย...”
ในขณะที่เรือกำลังจะแตก ผู้คนทั่วไปกำลังแตกตื่น เอาแต่ร่ำร้อง คร่ำครวญ กราบไหว้เพรียกหาความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย คำถามคือพระมหาชนกมีปฏิกริยาต่อเหตุการณ์อันฉุกเฉินน่าหวาดกลัวต่อภัยอันมหันต์ต่อชีวิตนี้อย่างไร?
“...แต่พระมหาสัตว์ไม่ทรงกันแสง ไม่ทรงคร่ำครวญ ไม่ไหว้เทวดาทั้งหลาย. พระองค์ทรงทราบว่าเรือจะจม จึงคลุกน้ำตาลกรวดกับเนย เสวยจนเต็มท้อง แล้วชุบผ้าเนื้อเกลี้ยงสองผืนด้วยน้ำมันจนชุ่ม ทรงนุ่งให้มั่น. ทรงยืนเกาะเสากระโดง ขึ้นยอดเสากระโดงเวลาเรือจม. มหาชนเป็นภักษาแห่งปลาและเต่า น้ำโดยรอบมีสีเหมือนโลหิต. พระมหาสัตว์เสด็จไปทรงยืนที่ยอดเสากระโดง. ทรงกำหนดทิศว่า เมืองมิถิลาอยู่ทิศนี้ ก็กระโดดจากยอดเสากระโดง ล่วงพ้นฝูงปลาและเต่า ไปตกในที่สุด อุสภะหนึ่ง (70 เมตร) เพราะพระองค์มีพระกำลังมาก.
เนื้อความข้อนี้สร้างความประทับใจให้แก่ผู้เขียนบทความชิ้นนี้เป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้เขียนพบว่าเป็นข้อความที่ได้แอบแฝงคติธรรมที่สำคัญๆ หลายประการ คติธรรมเท่าที่ผู้เขียนพอจะจับความได้ตามความเข้าใจด้วยสติปัญญาอันจำกัดของผู้เขียน มีอาทิ
> ความมีสติสัมปชัญญะ เนื้อความข้างต้นเป็นคติธรรมเตือนใจสาธุชนให้ตั้งมั่นในการมีสติสัมปชัญญะ ทั้งในยามปกติและแม้เมื่อมีภัยพาลบังเกิดขึ้น ก็ไม่ควรตื่นเต้นทุรนทุรายจนเกินควร ควรตั้งสติให้มั่น รวบรวมสัมปชัญญะเพื่อฝ่าฟันผ่านวิกฤตให้ได้ ฉะนั้น ผู้ใดมีสติสัมปชัญญะ ผู้นั้นย่อมมีโอกาสรอดพ้นจากภัยพาลมากกว่าผู้อื่น
> ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน เนื้อความข้างต้นสะท้อนถึงค่านิยมที่ผู้ประพันธ์ต้องการสื่อให้เห็นถึงความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวที่จะพึ่งตนเองอย่างเข้มแข็ง ไม่ว่าจะในยามปกติสุขหรือเมื่อภัยพาลมาย่ำกราย สาธุชนมิพึงคร่ำครวญ ร่ำร้องโวยวาย เรียกร้องความสงสารเห็นอกเห็นใจและแบมือขอความช่วยเหลือจากผู้อื่นมิว่าจะเป็นเพื่อนมนุษย์ องค์กร รัฐบาล หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย สำหรับผู้เขียนแล้วถือว่านี่คือคติธรรมอันประเสริฐยิ่งที่จะช่วยแก้ไขจุดอ่อนที่สำคัญของปุถุชนไทยทั่วไปในปัจจุบัน ซึ่งกำลังถูกสั่งสอนอบรมและหล่อหลอมให้กลายเป็นชนชาติที่ไม่ชอบการพึ่งตนเองได้ แต่กลับนิยมชมชอบผู้ที่จะมาแจก มาปรนเปรอ มาให้ทั้งในรูปของวัตถุและการบริการ จนสูญเสียจิตวิญญาณแห่งการใช้ความมานะพยายามของการยืนบนลำแข้งของตนเอง และเมื่อใดที่ถูกตัดขาดจากการให้ความช่วยเหลือ หรือเมื่อต้องผจญกับภัยพาล มหาชนเหล่านี้ก็มักจะออกมาคร่ำครวญ ร่ำร้องโวยวายโจมตีว่า “เพราะความไม่เป็นธรรม”, “เพราะสองมาตรฐาน”, “เพราะโครงสร้างอันเหลื่อมล้ำ” เราจึงต้องผจญภัยพาลเช่นนี้ ฯลฯ สุดท้าย ถึงที่สุดหมู่ชนเหล่านี้ก็ก้าวล่วงไปถึงขั้นของการด่าทอสิ่งศักดิ์สิทธิ์ “เพราะเทวดาไม่อารักษ์” พวกเราจึงต้องเผชิญทุกข์เช่นนี้ โดยมิได้หันกลับมามองตนเองว่าได้ใช้ความเพียรในการพึ่งตนเองเพียงพอแล้วหรือยัง ในทางตรงกันข้าม พระราชนิพนธ์พระมหาชนกสะท้อนให้เห็นคติธรรมที่ว่า เมื่อภัยมาถึงพระมหาชนก “ไม่ทรงกันแสง ไม่ทรงคร่ำครวญ ไม่ไหว้เทวดาทั้งหลาย” กล่าวคือไม่ร้องให้ พร่ำเพ้อคร่ำครวญ ร่ำร้องโวยวายเรียกร้องความสงสารเห็นอกเห็นใจและความช่วยเหลือจากใคร แม้แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่ตระหนักว่าด้วยสติปัญญาและการหยัดยืนด้วยตนเองเท่านั้นคือหนทางแห่งความรอด
> การมีเป้าหมายเข็มมุ่งที่ชัดเจนในชีวิต สิ่งที่ทำให้พระมหาชนกสามารถครองสติสัมปชัญญะได้อย่างดี อีกทั้งหยัดยืนด้วยความสามารถแห่งตนอย่างมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวนั้น สาเหตุสำคัญก็เนื่องเพราะการมี “เป้าหมายที่ชัดเจน” : “ฉันจักไปเมืองสุวรรณภูมิ” “ฉันจักไปแท้จริง” ดังนั้น แม้นในยามมหันตภัยมาเยือน พระมหาชนกก็มิได้สะทกสะท้านโลเลอ่อนข้อให้ แต่ยังคงยืนหยัดในเป้าหมายที่มุ่งมั่น “...ทรงกำหนดทิศว่า เมืองมิถิลาอยู่ทิศนี้ ก็กระโดดจากยอดเสากระโดง ล่วงพ้นฝูงปลาและเต่า…” ในขณะที่ มหาชนผู้โลเลไร้จุดหมายมืดบอดในชีวิตที่แน่นอนล้วนต่างต้องเผชิญกับชะตากรรมคือกลายเป็น “เป็นภักษาแห่งปลาและเต่า” ไป ดังนั้น การปลูกฝังให้คนมีเป้าหมายแห่งชีวิตที่ชัดเจน ถือเป็นคติธรรมอีกข้อหนึ่งที่สำคัญสำหรับการพัฒนามนุษย์
> การมีความรู้ปัญญา นอกจากการมีสติสัมปชัญญะ, การยึดถือคุณค่าแห่งการพึ่งตนเอง และการมีเป้าหมายในชีวิตที่ชัดเจนแล้ว คติธรรมที่สำคัญอีกประการหนึ่งที่ซ่อนเร้นเป็นรหัสนัยอยู่ในข้อความข้างต้นของพระราชนิพนธ์พระมหาชนกก็คือ “สาธุชนพึงมีปัญญาความรู้คู่กาย” ปัญญาความรู้จะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์กลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สามารถเอาตัวรอดได้อย่างยั่งยืน ผู้อ่านบทความชิ้นนี้คงตั้งคำถามว่า “คติธรรมข้อนี้ปรากฎอยู่ตรงส่วนใดในข้อความข้างต้นของพระราชนิพนธ์พระมหาชนก?” ผู้เขียนก็ต้องตั้งคำถามกลับไปว่า “มีผู้อ่านท่านใดตั้งข้อสงสัยไหมว่าเหตุใดพระมหาชนกจึงว่ายน้ำลอยตัวอยู่เหนือน้ำได้ถึง 7 วัน?” ตรงนี้แลคือความรู้หรือภูมิปัญญาที่มีมาแต่โบราณ ผู้เขียนบทความชิ้นนี้ใคร่ขอยกเอาข้อเขียนของพลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ผู้ช่วยไขข้อข้องใจและอธิบายความว่านอกจากสติสัมปัชัญญะแล้ว ภูมิปัญญาความรู้คือสิ่งสำคัญที่จะทำให้เรารอดพ้นภาวะวิกฤต
ติดตามเนื้อหาฉบับเต็มได้ที่ วารสารการบริหารฅน People Magazine Vol.3.2559 Cover Story - ถอดรหัส “พระมหาชนก” จากมุมมองด้านการพัฒนามนุษย์และองค์การอัจฉริยภาพอันสร้างสรรค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้เขียน ผศ.ดร.สมบัติ กุสุมาวลี | คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ นิด้า
תגובות