top of page
รูปภาพนักเขียนKHON

ถอดรหัสความรู้ Peter Senge: Keynote address

กุลธิดา มงคลศิริเกียรติ | People Magazine Vol.2.2559

เนื่องในโอกาสครบรอบ 50 ปีของ PMAT หรือสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 มิถุนายนที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ ได้รับเกียรติจาก Professor Dr. Peter M. Senge ซึ่งปัจจุบันท่านเป็น Senior Lecturer ที่ MIT Sloan School of Management มาให้ความรู้ในหัวข้อ Dance of (Profound) Change: Build Competitiveness and Sustainability through Learning and Innovation โดยมีผู้บริหารระดับสูงทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตลอดจนมืออาชีพด้าน HR ร่วมรับฟังอย่างคับคั่ง


Peter Senge เริ่มด้วยการกล่าวว่า ในการทำอะไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น project หรืองานการใดๆ เราไม่ควรเข้าใจแค่ ‘what’ แต่ควรรู้ ‘why’ ด้วย เพราะ ‘why’ จะทำให้เราได้สะท้อนถึง ‘our state’ หรือ ‘human state’ ของเราในบริบทนั้น Senge มองว่า ณ นาทีนี้ ‘human state’ ของพวกเราอยู่ในสภาพที่เปราะบางเหลือเกิน ส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงทั้งในด้านสังคม การเมือง และระบบนิเวศ ซึ่งก่อให้เกิดความไม่สมดุลอย่างสุดขั้ว (profound imbalances) ในสังคมของเรา ยกตัวอย่าง OXFAM องค์กรซึ่งทำหน้าที่ติดตามความเป็นอยู่ของคนยากจนและสภาวะความยากจนของโลกพบว่ามีความเหลื่อมล้ำระหว่างความมีกับความจนอย่างรุนแรง จากข้อมูลของ OXFAM พบว่าเมื่อหลายปีก่อนความมั่งคั่งทั้งหมดในโลกกระจายตัวอยู่ในมือของคนถึง 70% ของคนทั้งหมด ปัจจุบันนี้ปรากฏว่าความมั่งคั่งกระจุกตัวอยู่ในมือของคนเพียง 47% เท่านั้น ความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้วนี้มีสาเหตุมาจากการอุตสาหกรรมนำมาทั้งความเติบโต (growth) และความเหลื่อมล้ำ (imbalances) ในหลายด้าน


Climate change เป็นหนึ่งในผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของยุคอุตสาหกรรม ในอดีตมีแต่ธุรกิจประกันภัยที่ให้ความสนใจในเรื่อง climate change เพราะส่งผลกระทบกับการคิดเบี้ยการประกันภัย ปัจจุบันภาครัฐและภาคเอกชนมีการตระหนักมากขึ้นถึงอุณหภูมิของโลกที่ไต่สูงขึ้นทุกปี โดยมีการคาดการณ์จาก freeworld simulator โดย MIT ว่าหากทุกประเทศยังทำการผลิตและทุกคนยังมีพฤติกรรมการอุปโภคบริโภคเหมือนเดิมต่อไปเรื่อยๆ ในปีค.ศ. 2100 อุณหภูมิโลกเราจะสูงขึ้น 4.5 องศา ซึ่งจะเป็นสภาพอากาศที่มนุษย์อยู่ไม่ได้ ปัจจุบันที่อาฟริกามีการอพยพย้ายถิ่นเนื่องจากสภาพอากาศเลวร้ายเกิดขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสภาพความแห้งแล้งและน้ำท่วม ซึ่งใช้คำเรียกคนกลุ่มนี้ว่า Climate refugee


เรื่อง climate change เป็น global challenge หรือความท้าทายระดับโลกที่ทุกชาติต้องให้ความสนใจ จากสถิติที่ผ่านมาพบว่าประเทศจีนและประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย อาทิไทย อินโดนีเซีย และบราซิล มีส่วนในการทำลายชั้นบรรยากาศโลกมากกว่าประเทศอื่นๆ ในการประชุมเวทีโลกที่ฝรั่งเศส ประเทศจีนได้ลงนามในข้อตกลง Paris commitment เพื่อลดการปล่อย CO2 เข้าไปในชั้นบรรยากาศ และดำเนินการลด CO2 อย่างจริงจัง โดย freeworld simulator แสดงผลว่าหากประเทศจีนสามารถลดระดับการปล่อย CO2 ให้อยู่คงที่เช่นนี้ต่อไป อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นลดลงที่ 3.3 องศาในปี 2100 จากเดิม 4.5 องศา นี่แสดงให้เห็นว่าประเทศจีนเอาจริงและ commit กับการลด CO2 แต่ปรากฏว่าในปีนั้นที่จีนลดระดับการปล่อย CO2 ได้อย่างมาก สื่อมวลชนตะวันตกกลับไม่ให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของจีนในเรื่องนี้เลย ซึ่งนี่แสดงถึง mental model ของสื่อตะวันตก อย่างไรก็ดี อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 3.3 องศาในปี 2100 ก็ยังไม่เพียงพอต่อสภาพอากาศที่มนุษย์จะอยู่ได้ จริงๆ แล้วสภาพอากาศที่เหมาะสมคือสูงขึ้นไม่เกิน 2 องศา ถ้าจะทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นเพียงแค่นั้นได้ ทุกประเทศในโลกต้องลดการปล่อย CO2 ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศและต้องเริ่มตอนนี้แล้ว


Climate change เป็นเพียงประเด็นเดียวในเรื่องหลักๆ ที่ shape อนาคตของโลกเท่านั้น ยังมีประเด็นความเหลื่อมล้ำอีกหลายด้าน เช่นความเหลื่อมล้ำด้านพลังงานและการขนส่ง ความเหลื่อมล้ำด้านอาหารและน้ำ ความเหลื่อมล้ำด้านกากขยะและสารพิษ และความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งประเด็นเหล่านี้คือ imbalances หรือความไม่สมดุลอย่างสุดขั้วที่เป็นมรดกของยุคอุตสาหกรรม เราจึงควรถาม ‘why’ มากกว่า ‘what’ เพราะ ‘why’ จะบอกถึง ‘consequence’ หรือสาเหตุของสิ่งที่เกิดขึ้น ความไม่สมดุลอย่างสุดขั้วหรือความเหลื่อมล้ำนี้เกิดมาจากระบบต่างๆไม่ว่าจะเป็นด้านดารค้า การควบคุม การศึกษาที่หล่อหลอมให้เกิดแนวคิดและค่านิยมที่เราจงใจสร้างขึ้นมาให้เป็นแบบนี้ ไม่ใช่อุบัติเหตุ มีความผิดพลาดในระบบการศึกษาและวิถีชีวิตของเราซึ่งก่อให้เกิดสงครามและความเหลื่อมล้ำเหล่านี้


Senge ย้ำว่า ไม่ว่าจะเป็นประเด็นความไม่เท่าเทียมกัน หรือความเหลื่อมล้ำอย่างสุดขั้ว ปัญหาสังคม หรือปัญหาสภาวะสิ่งแวดล้อม จริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องเดียวกัน มันเกิดจากระบบ ระบบที่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลอย่างสุดขั้ว ยกตัวอย่างเช่นระบบการวัดความเจริญเติบโตของประเทศ ทุกประเทศวัด growth จาก GDP ซึ่งเป็นสิ่งที่เราสมมุติขึ้นมาเพื่อวัดความอยู่ดีกินดีของคนในประเทศ ประเทศที่ประสบความสำเร็จจะต้องมี GDP ที่สูง เมื่อสูงแปลว่ามีเศรษฐกิจที่ดี นี่คือ mental model ของประเทศต่างๆ ในโลก แล้วจริงๆ คนในประเทศนั้นกินดีอยู่ดีรึเปล่า ทำให้ประเทศเจริญขึ้นจริงรึเปล่า ถามจริงๆ นที่นี้มีใครรู้บ้างว่า GDP คิดมาจากอะไร มีสมมุติฐานอะไรในการดึงแต่ละ factor เข้ามาคำนวณ GDP ที่เราสร้างขึ้นมาเพื่อใช้วัดความกินดีอยู่ดีของคนในประเทศมันใช่จริงรึเปล่า ทำไมไม่วัดสิ่งที่มันสำคัญต่อสังคมเราจริงๆ เช่นอัตราการจ้างงาน


ยุคอุตสาหกรรมเริ่มในปีค.ศ. 1910 และ GDP ถูกนำมาใช้วัดความเจริญทางเศรษฐกิจในปี ค.ศ. 1970 พวกเรามองว่ายุคอุตสาหกรรมได้ผ่านพ้นไปแล้ว และตอนนี้เป็นยุคแห่งข่าวสารข้อมูล จริงๆ แล้วตอนนี้ก็ยังเป็นยุคอุตสาหกรรมอยู่ เรายังไม่ได้ไปไหนแม้จะเรียกชื่ออื่น ยุคอุตสาหกรรม shape ค่านิยมในสังคมมาตลอดด้วยการถลุงใช้ทรัพยากรของโลก ไม่ว่าจะเป็นการผลิตพลังงานซึ่งมาจากซากฟอสซิล อาหารซึ่งมาจากการผลิตเพื่อการบริโภคนิยม เครื่องอุปโภคซึ่งก่อให้เกิดขยะ ความเป็นอยู่ที่ดีในสังคมซึ่งก่อให้เกิดความต้องการที่จะสร้างรายได้สูงสุดและการบริโภคอย่างฟุ่มเฟือย แทนที่จะเป็นการใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ การลดขยะ และการสร้างสัมพันธ์และพัฒนาในความเป็นมนุษย์ด้วยกัน ทัศนคติทางวัฒนธรรมของยุคอุตสาหกรรมคือบริโภคนิยมและถ่ายเทของเสีย


เป้าประสงค์ของวันนี้คือการ re-build มนุษย์ที่เป็นมนุษย์ ไม่ใช่ผู้ทำลายล้างสิ่งแวดล้อม การปฏิรูปการศึกษา และส่งเสริมการร่วมมือร่วมใจในการปฏิรูปร่วมกัน สิ่งที่จำเป็นต้องทำในวันนี้คือการสร้าง innovation culture ในสถาบันหลักๆ ของประเทศ และในองค์กร ซึ่งเมื่อพูดถึง innovation คนส่วนใหญ่จะนึกถึงเทคโนโลยี ซึ่งการสร้าง innovation ทางเทคโนโลยีมันง่ายมากเมื่อเทียบกับการสร้างให้เกิด innovation culture ในสถาบันหรือในองค์กร


แล้วจะสร้างให้เกิด Innovation Culture ในสถาบันหรือในองค์กรได้อย่างไร Senge แนะว่าต้องเริ่มจากการสร้างให้เกิดการเรียนรู้ในกลุ่ม Leader ขององค์กรถึงแนวทางในการบริหารจัดการและการนำทีมงานก่อน โดยยกตัวอย่างของสิงคโปร์ให้เห็น สิงคโปร์ต้องการสร้างประเทศให้เป็น Innovation Hub แต่วัฒนธรรมของสิงคโปร์ไม่เอื้อเพราะที่ผ่านมาเป็นสังคมปัจเจก ไม่มีการร่วมมือกัน ทั้งยังมีระบอบการปกครองของประเทศแบบ Top Down มาตลอด โดยในช่วงเริ่มต้นก็ลองผิดลองถูกและได้เรียนรู้ว่าไม่สามารถสั่งคนให้ลุกขึ้นมา Innovate ได้ สิงคโปร์คิดได้ว่าถ้าจะให้ประเทศเป็น innovation hub ผู้นำต้องทำให้คนรู้สึกผูกพันกับสิ่งที่เขาทำ ดังนั้นสิ่งแรกที่ผู้นำต้องทำคือสร้างความผูกพัน สร้างพลังให้เกิดขึ้นในประเทศ/องค์กร และการจะขึ้นมาเป็นผู้นำได้ ต้องเป็นมนุษย์ก่อน ในประเทศจีน หนังสือ The Fifth Discipline ยังคงเป็น best seller มาตลอดทั้งที่ผ่านมาแล้วกว่า 10 ปี ที่เป็นเช่นนั้นเพราะชาวจีนบอกว่าเป็นหนังสือเล่มแรกที่ไม่ได้พูดถึง Manager แต่พูดถึง People และการรับรู้ถึง Mental Models ผู้นำควรรับรู้ถึงจุดบอดหรือข้อจำกัดของตัวเอง จำเป็นต้องมี Humility หรือความอ่อนน้อมถ่อมตน และเรียนรู้ที่จะมองเห็นความเชื่อมโยง (Interconnectedness) ของสิ่งต่างๆทั้งหมดหรือ systems Thinking สำหรับ Thailand 4.0 Senge นิยมหลัก 3M ของท่านสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ประกอบด้วย Mutual Trust, Mutual Respect และ Mutual Benefits สำหรับผู้นำในการนำไปปฏิบัติกับคนในประเทศ/องค์กรเพื่อใช้สร้าง Shared Vision ร่วมกัน


กรอบความคิดของผู้บริหารต้องเปลี่ยนจากการบังคับบัญชาจากบนลงล่างไปสู่การหาวิธีการในการเข้าถึงจิตใจและวิญญาณของผู้คน และเป็นแนวทางเดียวกับที่ควรนำมาใช้กับการจัดการสภาวะวิกฤติที่เกิดขึ้นบนโลกของเราวันนี้ เราจำเป็นต้องใช้ประเพณีดั้งเดิมของเราในการยึดโยงกลับไปสู่ตัวตนที่แท้ สู่รากของเรา ด้วยความเข้าใจในตัวตนของเราเอง (self) การอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัวระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ (Harmony) และระบบนิเวศที่เราอยู่อาศัย (Ecology) ซึ่งตรงกันข้ามกับยุคอุตสาหกรรมที่มุ่งทุนนิยม ความสับสนวุ่นวาย และความไม่สมดุลซึ่งทำลายระบบนิเวศวิทยา ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกัน


Senge ย้ำว่าพวกเราควรตื่นได้แล้ว สิ่งที่เรากำลังวิ่งตาม ที่พวกเราคิดว่าเป็นการ ‘กินดีอยู่ดี’ ทุกวันนี้กลับก่อให้เกิดความสับสนวุ่นวาย ความหมายของการมีชีวิตอยู่คือการอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัวของมนุษย์และธรรมชาติ ดังคำกล่าวที่ว่า “โชคชะตาของมนุษย์ – ถ้ามนุษย์ไม่สามารถอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติได้ ก็ต้องถูกทำลายลงไปพร้อมโลก” Senge ทิ้งคำถามไว้ให้ตอบตัวเอง 2 ข้อ

1. สิ่งที่เขาพูดในวันนี้ทำให้คุณฉุกคิดอะไรได้บ้าง

2. ความท้าทายของคุณหลังจากวันนี้คืออะไร

คงไม่ต้องตามไปตอบ Senge แต่ตอบตัวเองให้ได้ว่าหลังจากอ่านบทความนี้แล้ว เราจะเปลี่ยนตัวเองอย่างไร


ดู 108 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page