top of page
รูปภาพนักเขียนสราวุธ พันธุชงค์

ผู้นำองค์กรกับการพัฒนาความรู้สู่ความยั่งยืน

อัปเดตเมื่อ 28 ธ.ค. 2563

สราวุธ พันธุชงค์ | วารสารการบริหารฅน 3/2559

แนวคิดการสร้าง ความยั่งยืนขององค์กร (Corporate Sustainability) เป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งในการบริหารจัดการองค์กรธุรกิจสมัยใหม่ แนวคิดนี้เสนอว่า การเติบโตและผลกำไร (Corporate Growth and Profitability) ขององค์กรเป็นสิ่งสำคัญ แต่ขณะเดียวกัน หากจะให้ธุรกิจดำเนินไปอย่างยั่งยืน ธุรกิจจำเป็นต้องมีเป้าหมายเชิงสังคมที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย (Sustainable Development) เป้าหมายดังกล่าว เช่น การปกป้องสิ่งแวดล้อม การสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมทางสังคม การพัฒนาเศรษฐกิจที่ส่งเสริมการกระจายรายได้ เป็นต้น


กล่าวอีกนัยหนึ่ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจของธุรกิจนั้นสามารถตอบสนองความต้องการของคนรุ่นปัจจุบัน แต่ขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ส่งผลร้ายต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนรุ่นต่อไป กิจกรรมของธุรกิจนั้นคำนึงถึงการกระจายผลประโยชน์แก่คนในสังคมอย่างเสมอภาคกัน (Fairness) กิจกรรมของธุรกิจนั้นต้องมีส่วนส่งเสริมสภาวะความเป็นอยู่ที่ดี (Wellbeing) ของคนในสังคม และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในสังคมไม่ทางตรงก็ทางอ้อม รวมถึงการสร้างและการสนับสนุนการพัฒนาบุคคลากรในองค์กรให้เกิดความรู้และมีสมรรถนะที่พร้อมต่อการปฏิบัติงาน


การวัดความสำเร็จของธุรกิจในแนวทางพัฒนาอย่างยั่งยืนนี้จะกินความหมายที่กว้างไกลกว่าเพียงผลสำเร็จทางธุรกิจในแง่ของรายได้และผลกำไร แต่จะรวมถึงตัวชี้วัดอื่นๆ ที่สะท้อนความยั่งยืนของธุรกิจเข้าไปด้วย อาทิ ความพึงพอใจของพนักงาน ขีดความสามารถของพนักงาน อัตราการลาออกของพนักงาน ความพึงพอใจของคู่ค้า ความพึงพอใจของชุมชน สัดส่วนของการสนับสนุนชุมชนต่อยอดขายสินค้าหรือบริการ สัดส่วนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติต่อหน่วยของสินค้าที่ผลิตออกมา อัตราการปล่อยของเสียหรือมลพิษอันเนื่องจากการผลิตต่อการผลิตหนึ่งหน่วย เป็นต้น


ในกรอบการพัฒนาที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ ได้มีการกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้นำองค์กรที่ต้องรับผิดชอบต่อสังคม และสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร โดยเฉพาะบทบาทของผู้นำในเรื่องของกระบวนการจัดการความรู้นั้นมีอยู่หลายประเด็นได้แก่

1.ผู้นำองค์กรต้องมีการเชื่อมโยงการจัดการความรู้เข้ากับวิสัยทัศน์ พันธกิจ และค่านิยมขององค์กร หรือ มีกิจกรรมที่ผู้บริหารได้จัดการถ่ายทอด นโยบาย วิสัยทัศน์ พันธกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม


2.ผู้นำองค์กรต้องกำหนดโครงสร้างการจัดการความรู้ระดับองค์กร โครงสร้างระดับหน่วยงาน หรือ ผู้ที่รับผิดชอบรวมถึงการระบุหน้าที่ความรับผิดชอบด้านการจัดการความรู้ (Job Description) อย่างเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อให้เกิด การสร้างนวัตกรรม และผลการดำเนินการที่ดี (High Performance) ขององค์กร


3.สนับสนุนการใช้เครื่องมือและเทคนิคที่อิงฐานความรู้เพื่อเพิ่มผลผลิตระดับองค์กรขององค์กร รวมทั้งมีวิธีการปกป้องการแบ่งปันทรัพย์สินทางปัญญา สินทรัพย์ทางความรู้ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร


4.ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรเป็นตัวอย่างในการแบ่งปันความรู้และให้ความร่วมมือ รวมทั้งให้การสนับสนุนส่งเสริมและวางแผนเผื่อสำหรับนวัตกรรมเทคโนโลยีในอนาคต และการสร้างนวัตกรรมในระดับองค์กร


5.ผู้บริหารระดับสูงขององค์กรส่งเสริม ให้ความสำคัญและมอบรางวัลที่ให้แก่บุคลากรที่มีส่วนร่วมสำหรับการเรียนรู้ภายในองค์กร


6.ผู้นำองค์กรการประยุกต์การจัดการความรู้ในด้านการปรับปรุงความสัมพันธ์กับชุมชนหลักขององค์กรเพื่อให้บรรลุผลด้านความรับผิดชอบต่อสังคมในวงกว้าง และสนับสนุนชุมชนที่สำคัญด้านการจัดการความรู้


จะเห็นได้ว่า การพัฒนาความรู้สู่ความยั่งยืนต้องอาศัยบทบาทของผู้นำองค์กรในการการนำองค์กร ทำกิจกรรม หรือชี้นำให้องค์กรมีความยั่งยืน นอกจากนี้ การสร้างระบบการกำกับดูแลองค์กร (Governance System) และวิธีการที่องค์กรใช้เพื่อบรรลุผลด้านกฎหมาย จริยธรรม และความรับผิดชอบต่อสังคมในวงกว้าง รวมทั้งการสนับสนุนชุมชนที่สำคัญ ก็เป็นปัจจัย ความยั่งยืนขององค์กร (Corporate Sustainability) เช่นกัน

ดู 4 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page