top of page
รูปภาพนักเขียนชินภัทร์ สุวรรณพุ่ม

พร้อมหรือยังกับ Deep (HR) Tech

อัปเดตเมื่อ 21 พ.ค. 2564

ชินภัทร์ สุวรรณพุ่ม | shinapat_s@hotmail.com | Khon Content Creator

ทุกวันนี้ คงไม่มีองค์กรไหนที่ไม่รู้จักคำว่า Digital Transformation หรือ Digital Technology หลายปีก่อน องค์กรชั้นนำจำนวนมาก เริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงาน นอกจากจะนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต และการบริหารแล้ว ในงานบริหารทรัพยากรบุคคลก็เช่นเดียวกัน ในงานบริหารทรัพยากรบุคคลหรือ HR ก็นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทุกกระบวนการตั้งแต่ Hire to Retire ของพนักงาน ซึ่งทำให้งาน HR และคนที่ทำงาน HR จะต้องเปลี่ยนสู่การเป็น “HR Tech” ในด้านบริษัทฯก็เริ่มมีการลงทุนพัฒนาระบบต่างๆเพื่อสนับสนุนงาน HR เพิ่มมากขึ้น เช่น ระบบจัดการฐานข้อมูลพนักงาน ระบบการบันทึกเวลาการทำงาน ระบบการประมวลผลเงินเดือน งาน HR ที่เคยทำด้วยระบบ “ทำมือ” ก็เปลี่ยนผ่านสู่การทำด้วย “ระบบ” มากขึ้นเรื่อยๆ สาเหตุสำคัญก็ด้วยเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงแบบก้าวกระโดด ทั้งในเรื่องของความง่ายในการใช้งานทั้งฝั่งของ HR และการใช้งานระบบในฝั่งของพนักงาน ราคาของเทคโนโลยีที่ราคาน้อยกว่าเดิมมาก บริษัทฯไม่จำเป็นต้องลงทุนระบบ ติดตั้ง Server ในราคาหลายล้านบาท เปลี่ยนเป็นการใช้ระบบซื้อขายผ่าน Subscription หรือการจ่ายค่าบริการตาม User ที่ใช้จริงเป็นรายปี และสุดท้ายคือเรื่องของระยะเวลาในการจัดทำระบบ จากเดิมอาจจะต้องใช้ระยะเวลานานเป็นปี แต่ปัจจุบันเพียงแค่ 1-3 เดือนก็สามารถนำระบบใหม่ๆ เข้ามาใช้ในองค์กรได้ ทำให้การเป็น HR Tech ง่ายและเร็วขึ้นในพริบตา


องค์กรหรือคนทำงาน HR ที่เปลี่ยนผ่านตัวเองสู่การเป็น “HR Tech” เริ่มมีการนำเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง AI เข้ามาช่วยคัดเลือกใบสมัคร เพื่อให้ตรงกับตำแหน่งงานที่บริษัทรับสมัคร นำฐานข้อมูลมาทำความเข้าใจลักษณะของพนักงาน และวิเคราะห์แนวโน้มความเคลื่อนไหวของพนักงานในองค์กรเพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจด้านธุรกิจของผู้บริหาร หรือที่เรียกว่า “HR Analytics” และสถานการณ์การระบาดของ COVID19 ก็ทำให้ HR คุ้นเคยกับการทำงานระยะไกล การใช้ Software รองรับประชุมระยะไกลได้อย่างแน่นอน ที่กล่าวไปข้างต้นหากเปรียบกับหนังหรือซีรีส์ก็เรียกได้ว่าเป็นแค่ช่วงเกริ่นเรื่องหรือ ปฐมบท เท่านั้น วันนี้เราได้เตรียมความพร้อมกับเทคโนโลยีขั้นสูงขึ้นกว่าเทคโนโลยีในยุคปัจจุบันซึ่งมีชื่อเรียกสั้นๆว่า “Deep Tech”


Deep Tech หรือ Deep Technology คือ เทคโนโลยีขั้นสูง ที่มีความซับซ้อนมากกว่าเทคโนโลยีเดิม มีการใช้สหวิชาเป็นพื้นฐานผ่านการค้นคว้าและวิจัยเพื่อมุ่งที่จะแก้ไขปัญหาที่ปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ หรือการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น ซึ่งล้วนแล้วแต่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของมนุษย์ดีขึ้น เช่น การสั่งการผ่านคลื่นสมอง รถยนต์ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง แว่นตาที่ช่วยจำลองการมองเห็นได้เสมือนจริง การแบ่งประเภทของเทคโนโลยีแบบ Deep Tech ยังไม่ได้มีการกำหนดไว้อย่างชัดเจน หรือมีการกำหนดไว้แล้วแต่แนวคิดของผู้ที่นิยาม แต่ถ้าจะพออธิบายให้เห็นภาพจากเทคโนโลยีปัจจุบันส่วนหนึ่งของ Deep Tech ที่เกิดขึ้นแล้วก็จะมีตัวอย่างเช่น Artificial Intelligence (AI), Machine Learning, Robotic, Block Chain, Synthetic Biology, Internet of Things (IoT), Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) เป็นต้น บริษัทใหญ่ๆ ให้ความสนใจในการนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ จากการศึกษาของ Boston Consulting Group (BCG) พบว่าการลงทุนใน Deep Tech เพิ่มขึ้นจาก 15 ล้านเหรียญ ในปี 2016 เป็นมากกว่า 60 ล้านเหรียญ ในปี 2020 และบริษัท Start Up ที่ทำเรื่อง Deep Tech ก็ยังได้รับเงินลงทุนจากนักลงทุนมากกว่า Start Up ที่ทำเรื่องเทคโนโลยีอื่นๆถึง 3.5 เท่า นั่นก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าเทคโนโลยีนี้กำลังอยู่ใน Trend ที่กำลังเติบโตขึ้นและจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตของเราในอนาคตอย่างแน่นอน


สำหรับงาน HR ที่จะพัฒนาต่อยอดจาก HR Tech ไปสู่ Deep (HR) Tech ที่จริงเชื่อว่าหลายองค์กรอาจจะเริ่มทำไปแล้ว หรืออาจจะมีเทคโนโลยีเหล่านี้อยู่ในมือแล้ว หรือเริ่มวางโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีไปมากแล้ว ภาพของ HR Technology ในยุคถัดไปจะไม่ใช่เทคโนโลยีที่สร้างขึ้นใหม่ เหมือนกับเทคโนโลยีชีววิทยาสังเคราะห์ (synthetic biology) ที่เป็นการผสมผสานระหว่างความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมโดยใช้เทคโนโลยี เพื่อออกแบบ หรือดัดแปลงพันธุกรรม สิ่งมีชีวิต ให้ตอบโจทย์ความต้องการของคนหรือพยายามที่จะแก้ไขปัญหาของคนในยุคปัจจุบันให้ได้ HR Technology จะเป็นในรูปแบบการต่อยอดเทคโนโลยี เช่น ใช้เทคโนโลยี Block Chain เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการยืนยันข้อมูลหรือจัดเก็บข้อมูล การใช้ AI ร่วมกับการพัฒนา AI ให้สามารถเรียนรู้เพื่อที่จะตอบโจทย์ที่ต้องการได้ผ่านเทคโนโลยี Machine Learning หรือ การใช้ Data Analytics เพื่อการวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากหรือ Big Data และใช้ AI ช่วยในการแปลผลเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว โดยเทคโนโลยีเท่าที่น่าจะเข้ามาช่วยงาน HR ได้ในอนาคตน่าจะเป็นในรูปแบบ ดังนี้


1. การวางโครงสร้างองค์กรและอัตรากำลัง องค์กรที่เป็น HR Tech เริ่มใช้ Big Data และ Data Analytics ในการคำนวณจำนวน Ratio ที่เหมาะสมของจำนวนอัตรากำลัง และสามารถนำเสนอภาพ Productivity ของแต่ละ Production Unit ออกมาให้เห็นในภาพของ Dashboard การใช้ Deep Tech จะเป็นการนำ AI มาช่วยในการอ่านข้อมูลและวิเคราะห์แนวทางในการจัดการทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น งานไหนที่มีอัตรากำลังมากเกินไป ควรลดหรือชะลอการจ้างงานใหม่ งานไหนที่มีอัตรากำลังน้อยเกินไป ควรจ้างคนเพิ่ม งานไหนที่ระยะยาวอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้คนอีกต่อไป อาจพิจารณาเรื่องการโอนย้ายอัตรากำลังเพื่อทำงานอื่น นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยี Block Chain จะทำให้ Recruiter สามารถตรวจสอบคุณสมบัติหรือ Certificate จากสถาบันที่มีการบันทึกข้อมูลใน Block Chain ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ต้องใช้ตัวกลางหรือติดต่อสอบถามเพื่อตรวจสอบกับแต่ละสถาบัน


2. การสรรหาและคัดเลือกพนักงาน องค์กรที่เป็น HR Tech ใช้ AI ช่วยในการมองหา Candidate ที่มีคุณสมบัติตรงกับที่บริษัทต้องการ การใช้ Deep Tech จะเป็นการนำ Chat Bot หรือ โปรแกรมที่มีการโต้ตอบอัตโนมัติกับผู้ใช้ ร่วมกับ AI ในการช่วยคัดเลือกพนักงาน ผ่านการสัมภาษณ์ผ่าน Chat Bot โดย AI จะต้องสามารถวิเคราะห์ได้อีกขั้นจากการสนทนาโต้ตอบกับผู้สมัครว่าผู้สมัครท่านนั้นควรจะผ่านการคัดเลือกขั้นต้น ก่อนที่จะไปสัมภาษณ์กับฝ่ายบุคคลจริงๆหรือไม่ ซึ่งจะช่วยลดงานของ Recruiter ได้เป็นอย่างมาก รวมถึงการใช้ Chat Bot ในการตอบคำถามแก่ผู้ที่มาสมัครงานกับบริษัทฯ ถ้าใช้ Deep Tech ในด้าน Machine Learning เข้ามาช่วยด้วย ก็จะยิ่งทำให้การตอบคำถามถูกต้องและตรงกับความต้องการของ Candidate มากยิ่งขึ้น


3. การเรียนรู้และการพัฒนา องค์กรที่เป็น HR Tech ใช้ VR ในการทดสอบเสมือนจริงก่อนที่จะลงไปทำงานของพนักงาน เช่น พนักงานที่ปฏิบัติงานด้านการซ่อมบำรุงระบบไฟฟ้า จะมีการทดสอบวิธีการปฏิบัติผ่านการใช้อุปกรณ์ VR บนรูปแบบจำลองการทำงานที่หน้างาน เพื่อป้องกันอันตรายสำหรับพนักงานใหม่ที่ยังไม่เคยปฏิบัติงาน องค์กรที่ใช้ Deep Tech จะนำ AI มาช่วย VR ในการแนะนำการทำงานที่หน้างานจริงๆ โดย AI จะสามารถจำแนกรูปแบบอุปกรณ์ หรือตัวควบคุมการทำงาน และประมวลผลกลับมาให้กับอุปกรณ์ VR ซึ่งสวมใส่โดยผู้ปฏิบัติงาน เพื่อให้ปฏิบัติงานได้ถูกต้อง เสมือนเป็นการทำตามคู่มือผ่านระบบ


4. การบริหารผลการปฏิบัติงาน องค์กรที่เป็น HR Tech ใช้ระบบ Data Analytics ร่วมกับ Dashboard ในการนำเสนอผลความคืบหน้าของ KPIs ที่ถูกกำหนดไว้ในแต่ละตัว เพื่อรายงานต่อคณะกรรมการบริษัทฯ องค์กรที่ใช้ Deep Tech จะนำ AI เข้ามาช่วยติดตาม KPI ของพนักงานเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ และสามารถเป็นเพื่อนชวนคิด (โค้ช) ผ่านการตั้งคำถามให้กับพนักงานคิดหาคำตอบได้ด้วยตัวเองและสามารถแก้ไขปัญหาในงานได้


5. การพัฒนาการเติบโตในสายอาชีพ และการสร้างผู้สืบทอดตำแหน่ง องค์กรที่เป็น HR Tech ใช้ระบบ HR Analytics ในการวิเคราะห์ข้อมูลโดยพิจารณาจากผลการประเมิน Competency เพื่อวิเคราะห์ระดับความพร้อมของพนักงานในการเติบโตไปสู่ตำแหน่งถัดไป หรือสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยงในด้านการสืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan) ของตำแหน่งที่ Successor ไม่มีความพร้อม องค์กรที่ใช้ Deep Tech จะสามารถใช้ AI เข้ามาช่วยในการวางแผนพัฒนา และแนะนำการพัฒนา เช่น วิเคราะห์ Profile และ Potential ของพนักงาน และให้พนักงานเลือก Development Direction ที่เหมาะสมกับตนเอง และสามารถแนะนำวิธีการพัฒนาเพื่อให้มีความพร้อมไปถึงเป้าหมายผ่านการแจ้งอัตโนมัติโดย AI


6. การสร้างความผูกพันให้กับพนักงาน องค์กรที่เป็น HR Tech จะสามารถนำข้อมูลผลการประเมินความพึงพอใจ (Satisfaction Survey) หรือผลการประเมินระดับความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร (Employee Engagement Survey) เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับความผูกพันของพนักงานต่อองค์กร และนำเสนอในรูปแบบของ Dashboard ผ่านการคำนวณโดยวิธีการทางสถิติ องค์กรที่ใช้ Deep Tech จะสามารถใช้ AI เข้ามาทำ Focus Group แทนเจ้าหน้าที่ที่ดูแล หรือที่ปรึกษา ซึ่งสามารถรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลได้ในทันที


7. การดูแลคุณภาพชีวิตของพนักงาน องค์กรที่เป็น HR Tech เริ่มใช้ Chat Bot ในการตอบคำถามเรื่องสวัสดิการของพนักงาน และใช้ HR Analytics แปลผลอัตราการใช้สวัสดิการในแต่ละด้านเพื่อออกแบบสวัสดิการให้เหมาะสม ในด้านความปลอดภัยในการทำงานในที่สูง บางองค์กรใช้เทคโนโลยี Drone ในการบินสำรวจหน้างานบนที่สูงเพื่อช่วยในการลดอุบัติเหตุของพนักงาน สำหรับองค์กรที่ใช้ HR Tech จะเริ่มจากการใช้ AI วิเคราะห์การใช้สวัสดิการแต่ละด้านที่มีความเหมาะสม และสามารถออกแบบสวัสดิการทางเลือกที่เพิ่มความพึงพอใจให้กับพนักงานได้ และอนาคตที่ไกลไปกว่านั้นองค์กรหรือบริษัทประกันอาจลงทุนในการให้พนักงานสวม Sensor โดยใช้เทคโนโลยี IOT เพื่อติดตามผลสุขภาพของพนักงานอย่างต่อเนื่อง และสามารถแจ้งเตือนให้พนักงานพบแพทย์ตั้งแต่เริ่มมีปัญหาสุขภาพ เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายของทั้งบริษัทประกันและบริษัทฯ นอกจากนี้ AI จะสามารถช่วยด้านความปลอดภัยในการทำงานให้กับพนักงานได้ โดยจะสามารถวิเคราะห์ประมวลผลผ่าน Screen Sensor เพื่อวิเคราะห์การใส่อุปกรณ์ป้องกันภัยในการทำงาน (Personal Protection Equipment : PPE) กรณีที่พนักงานสวมใส่อุปกรณ์ไม่สมบูรณ์ อาจมีการแจ้งเตือนไปยังผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อตักเตือนพนักงานให้ใส่ใจกับการรักษาความปลอดภัยในการทำงาน


จากที่กล่าวเรื่อง Deep (HR) Tech มาทั้งหมดหลายท่านอาจจะรู้สึกว่าค่อนข้างไกลตัว บริษัทฯอาจจะไม่ได้ลงทุนเทคโนโลยีในด้านนี้ หรือเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ HR เองหรือพนักงานก็ยังไม่คุ้นเคย แต่อยากจะลองชวนทุกท่านเริ่มต้นในการศึกษา Deep (HR) Tech กันตั้งแต่วันนี้ เพราะไม่แน่วันหนึ่งท่านอาจจะมีโอกาสในการเป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยี Deep Tech บางเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กรได้ หรือท่านอาจจะต้องเป็นคนกำหนดแผนกลยุทธ์ในงาน HR ในอนาคต ซึ่งก็จะต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีในงาน HR อย่างแน่นอน หรือถ้ามองถึงแนวโน้มการทำธุรกิจหรือการบริหารองค์กรในปัจจุบัน ที่เริ่มมีการเติบโตแบบการควบรวมกิจการ (M&A) เพิ่มมากขึ้น ไม่แน่... ท่านอาจจะได้เริ่มใช้เทคโนโลยี Deep Tech แบบไม่ตั้งตัวก็เป็นไปได้ เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วกับการเตรียมตัวให้พร้อมในการรู้จัก เข้าใจ ประยุกต์ใช้ Deep (HR) Tech ก่อนที่จะไม่มีเวลาให้เตรียมตัว

อ้างอิง

ดู 429 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page