ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ | nutavootp@gmail.com
หนึ่งในซีรีส์ล่าสุดของ Netflix ที่ได้รับการตอบรับอย่างดี คือ It’s Okay to Not Be Okay ตัวละครหลักในเรื่องต่างมีปมบาดแผลฝังลึกในวัยเด็กซึ่งเป็นความลับสำคัญที่ส่งผลมาถึงการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ความน่าสนใจ คือการดำเนินเรื่องที่อ้างอิงวรรณกรรมเด็กสายดาร์กที่ไม่มีเจ้าหญิงแสนงามกับเจ้าชายที่สมบูรณ์แบบ แต่ให้คุณค่ากับตัวแทนของความชั่วร้าย เช่น ชายเคราน้ำเงินที่ฆ่าภรรยาตัวเองเก็บไว้ในห้องใต้ดิน หรือ เด็กน้อยซอมบี้ที่กินแม่ตัวเองจนเหลือแต่ลำตัว โกมุนยอง นางเอกของเรื่องเปรียบเปรยว่านิทานทั่วไปเป็นโลก แฟนตาซี ที่วาดให้ขัดกับความป่าเถื่อนรุนแรงที่มีอยู่ในโลกแห่งความจริง
ความป่าเถื่อนรุนแรงฝังอยู่ในจิตใจของมนุษย์มาตั้งแต่อดีตกาล โฮเมอร์ กวีชาวกรีกที่เชื่อว่ามีชีวิตอยู่ในช่วง 900 ปีก่อนคริสต์กาล เป็นผู้แต่งมหากาพย์สำคัญของโลก สองเรื่อง คือ อีเลียด เกี่ยวกับการยึดกรุงทรอย และโอดิสซี ภาคต่อ เล่าเรื่องการเดินทางของยูลิซิส กลับบ้านภายหลังสงคราม ในมหากาพย์อีเลียด โฮเมอร์ เล่าเรื่องราวของสงครามเมืองทรอย ครอบคลุมช่วงเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ในช่วงปีที่สิบ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายของสงคราม โฮเมอร์บรรยายภาพการศึกไว้ในมหากาพย์อย่างละเอียด มีชื่อนักรบจำนวนมาก รวมถึงรายละเอียดในการปลิดชีวิตฝ่ายศัตรู และการตายอย่างมีเกียรติของวีรบุรุษแต่ละคน รายละเอียดสงครามของโฮเมอร์นับเป็นงานวรรณกรรมชิ้นเยี่ยมของโลก ที่บรรยายความโหดเหี้ยมและมีผู้เสียชีวิตมากที่สุด
โฮเมอร์ ได้เขียนในเชิงเสียดสีเอาไว้ว่า ‘มนุษย์จะเบื่อการนอน เบื่อความรัก เบื่อการร้องรำทำเพลง และการเริงระบำ ก่อนที่จะเบื่อการรบราฆ่าฟันกันเอง’ ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในอีก 2,000 ปีต่อมา ของซิกมันด์ ฟรอยด์ บิดาแห่งทฤษฎีจิตวิเคราะห์ ที่เชื่อว่า มนุษย์เกิดมาพร้อมกับสัญชาตญาณที่ติดตัวมาและเป็นแรงขับให้แสดงออกในรูปของความก้าวร้าว เรียกว่า สัญชาตญาณแห่งความตาย (Death Instinct) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นความป่าเถื่อนรุนแรงอยากทำลายล้างบุคคลอื่น
ในสมัยอาณาจักรโรมันโบราณ โคลอสเซียม ถือว่าเป็นสังเวียนแห่งความตาย ถูกสร้างให้เป็นสนามกีฬาที่เปิดให้พลเมืองโรมัน เข้าชมการต่อสู้อย่างถึงเลือดถึงเนื้อระหว่างสัตว์ป่ากับสัตว์ป่า สัตว์ป่ากับคน รวมทั้งการต่อสู้ระหว่างคนกับคน ที่เรียกว่า แกลดิเอเตอร์ ซึ่งมีทั้งทาส เชลย และนักโทษสงครามที่ก้าวเข้ามาและต่อสู้กันจนตายไปข้างหนึ่งต่อหน้าผู้ชมชาวโรมัน 55,000 คนที่โห่ร้องด้วยความคึกคะนองและสะใจ สังเวียนแห่งความตายได้ให้ความบันเทิงแก่ชาวโรมันต่อเนื่องยาวนานกว่า 500 ปี
ซิกมันด์ ฟรอยด์ เชื่อว่าในระดับจิตไร้สำนึก (Unconscious Mind) นั้น มนุษย์ได้รับความสุขและความพึงพอใจบางอย่างจากการใช้ความรุนแรงทำร้าย หรือเข่นฆ่าผู้อื่น ถ้าทำเองไม่ได้ ก็ชอบดูภัยพิบัติ ที่เกิดกับคนอื่น สังเกตได้จากเวลาเกิดเหตุการณ์รุนแรงต่างๆ ศึกสงคราม หรือมีการฆ่ากันตาย สื่อโทรทัศน์จะนำเสนอเหตุการณ์รุนแรง ซ้ำๆ ซึ่งเป็นที่ตัองการของผู้ชมส่วนใหญ่ ประเด็นนี้ ฟรอยด์ อธิบายว่า ลึกในก้นบึ้งหัวใจของมนุษย์นั้น เรามีสัญชาตญาณแห่งความตายกันทุกคน สัญชาตญาณนี้จะได้รับการตอบสนองเป็นความพึงพอใจ เมื่อเห็นความหายนะของคนอื่น เช่นเดียวกับที่ชาวโรมัน ชอบดูการเข่นฆ่าในสังเวียนการต่อสู้ในโคลอสเซียม
หลังยุคโรมัน เมื่อการฆ่ากันเพื่อความบันเทิงไม่สามารถทำได้อย่างเอิกเกริกอีกต่อไป แต่สัญชาตญาณแห่งความตายของจิตไร้สำนึกยังคงอยู่ สังคมยังวัดคุณค่าของมนุษย์ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ตัวอย่างเช่น ยุคมุ่งตะวันตกในอเมริกา ไปจนถึงยุคล่าอาณานิคม มีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อินเดียนแดง ชาวอะบอริจินส์ พื้นเมืองในออสเตรเลีย ชาวมายาในเปรู รวมถึง การกวาดต้อนคนในทวีปแอฟริกามาค้าเป็นทาส ไปจนถึงการสังหารหมู่ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง ในช่วงเวลาดังกล่าว ฝ่ายที่มีอำนาจ ถือว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่จะฆ่าคนบางเผ่าพันธุ์ เพราะคนพื้นเมืองเหล่านั้นไม่มีคุณค่า เป็นเพียงสัตว์ชั้นต่ำชนิดหนึ่ง การค้าทาสก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพราะทาสเหล่านั้นมีค่าเท่ากับสัตว์ใช้งานไม่ต่างจากวัวควาย แนวคิดเรื่องคติชาติพันธุ์นิยมที่สุดโต่งแบบคลั่งชาติ แท้จริงแล้วอาจเป็นแค่ข้ออ้าง ที่นำไปสู่การทำลายล้างชาติพันธุ์อื่น เพื่อสร้างความพึงพอใจ ตามสัญชาตญาณแห่งความตาย ที่ยังคงฝังอยู่ในจิตไร้สำนึกของมนุษย์ทุกคน
เมื่อเวลาของสิทธิมนุษยชน (Human Right) มาถึง ทุกคนต้องการความเท่าเทียมกัน การแสวงหาความบันเทิงจากการฆ่าในลักษณะของเกมส์กีฬา รวมทั้งกระบวนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ภายใต้คติความเชื่อชาติพันธุ์นิยม เริ่มถูกต่อต้านและปฏิเสธ แต่สัญชาตญาณแห่งความตายยังไม่เคยหายไปจากจิตไร้สำนึกของมนุษย์ ความพึงพอใจจากการใช้ความรุนแรงและทำร้ายหรือเข่นฆ่าผู้อื่นได้รับการสนองตอบ ผ่านวิธีการผสมผสานแนวคิดใหม่ในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม เพื่อให้การฆ่าขนานใหญ่ยังคงมีความชอบธรรมอยู่ ที่เห็นได้ชัดเจน คือ การใช้สงครามตัวแทน (Proxy War) ในอิรัก หรืออัฟกานิสถาน เพื่อโน้มน้าวประเทศอื่นๆ มาเป็นแนวร่วมในอุดมการณ์ทางการเมือง โดยมีมิติทางเศรษฐกิจเป็นตัวเสริมความชอบธรรม เหมือนกับที่อดีตประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ของสหรัฐอเมริกา เคยยอมรับว่า สงครามจะเริ่มต้น เมื่อรัฐบาลเชื่อว่าการรุกรานนั้นมีราคาถูก ในช่วงเริ่มสงครามอ่าว แม้ไม่ได้นั่งอยู่ในโคลอสเซียม แต่ก็มีคนหลายล้านคนสนุกกับการร่วมชมการถ่ายทอดสดของเคเบิลทีวีช่อง CNN และรู้สึกพึงพอใจที่ได้เห็นระเบิดที่มีความแม่นยำสูง (Smart Bomb) ถูกยิงจากเรือบรรทุกเครื่องบินสหรัฐไปถล่มกรุงแบกแดด ภาพและเสียงระเบิด รวมทั้งการได้เห็นคนอิรักเสียชีวิต สร้างความพึงพอใจอย่างเงียบๆ กับคนจำนวนมาก
สัญชาตญาณแห่งความตายยังคงเป็นแรงกระตุ้นที่นำมนุษย์ไปสู่ความพึงพอใจจากการได้เห็นการใช้ความรุนแรง แม้ปัจจุบัน ในบางสถานการณ์ สัญชาตญาณแห่งความตายจะได้รับการปกป้องว่าเป็นการกระทำที่ถูกต้อง ทั้งจากตัวบทกฏหมาย หรือวาทกรรม ที่พยายามให้เหตุผลบางอย่างเพื่อสนับสนุนพฤติกรรมที่เกิดขึ้น แต่เหตุผลเหล่านั้นมักไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงเสมอไป สุดท้ายผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นกับสังคมภายใต้ความพึงพอใจที่บางคนได้รับนั้น เป็นเสมือนกับที่ ทวีป วรดิลก ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เคยกล่าวไว้ว่า เมื่อแลไปข้างหน้า ก็ไม่มีความหวัง มองย้อนไปข้างหลัง ก็ไร้ซึ่งความภาคภูมิใจ
กฏระเบียบ และความซับซ้อนของวัฒนธรรมและสังคมในปัจจุบันเป็นตัวจำกัดการมีอยู่ของสัญชาตญาณแห่งความตายที่ยังคงฝังลึกอยู่ในธรรมชาติของมนุษย์ เทคโนโลยีดิจิทัลในด้านบวกช่วยกดพฤติกรรมดังกล่าว เช่นการใช้กล้อง CCTV และเทคโนโลยีจดจำใบหน้าร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Bigdata) ช่วยควบคุมพฤติกรรมประชาชนเป็นการป้องปรามการการเกิดอาชญากรรม ในทางตรงกันข้ามเทคโนโลยีดิจิทัลได้สร้างโลกเสมือนภายใต้สื่อสังคมออนไลน์ช่วยปกปิดตัวตนที่แท้จริงไม่ถูกครอบงำด้วยข้อกำหนดทางวัฒนธรรม ทำให้หลายคนได้โอกาสปลดปล่อยความป่าเถื่อนรุนแรงที่ซ่อนเร้นผ่านทางพฤติกรรมต่างๆ เช่น การใช้วาจาที่สร้างความเกลียดชัง (Hate Speech) หรือช่วยขยายความรุนแรงให้เห็นได้ในวงกว้างผ่านการกราดยิงคนในห้างสรรพสินค้าและถ่ายทอดเหตุการณ์สด ๆ ผ่าน Facebook Live เป็นต้น
เมื่อเรายังมีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบจากการกระทำอันเกิดจากสัญชาตญาณแห่งความตายที่ยังฝังลึก ซึ่งไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะแสดงออกมาโดยตัวเราเอง หรือคนรอบข้างเมื่อไหร่อีกทั้งการลบความทรงจำจากการกระทำนั้นไป ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องนัก มนุษย์ควรจะจดจำบาดแผลในใจไว้ เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น การต้องอยู่กับความทรงจำนั้นให้ได้ ซีรีส์เรื่อง It’s Okay to Not Be Okay ได้แนะนำให้รู้จักอ้อมกอดผีเสื้อ (Butterfly Hug) ในการรับมือสถานการณ์บีบคั้นโดยจับมือตนเองไขว้วางบนหัวไหล่ หลับตา หายใจเข้าออกยาวๆ ขณะเดียวกันก็ใช้มือแตะหัวไหล่สลับกันเป็นจังหวะคล้ายผีเสื้อกำลังกระพือปีก นักจิตบำบัด ลูซี่ อาร์กัส เป็นผู้แนะเทคนิคนี้ในปี ค.ศ. 1998 ขณะเดินทางไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยกว่า 200 คน ที่รอดจากพายุเฮอร์ริเคนในประเทศเม็กซิโกให้รู้สึกบรรเทาความทุกข์ และสามารถอยู่ต่อไปกับความทรงจำที่เลวร้าย เทคนิคนี้ได้รับการยอมรับว่าช่วยบำบัดบาดแผลทางใจของผู้ที่ต้องผ่านเหตุการณ์สะเทือนใจรุนแรง ทำให้สามารถสงบสติอารมณ์ในช่วงเวลาที่ควบคุมตัวเองไม่ได้อย่างไรก็ตาม ในระดับจิตไร้สำนึก มนุษย์ยังพึงพอใจในการใช้ความรุนแรงทำร้ายผู้อื่นในรูปแบบต่างๆ การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุจะด้วยมาตรการทางสังคม กฏระเบียบ หรือเทคโนโลยี เพื่อลดการแสดงออกของจิตไร้สำนึกได้อย่างเสรี น่าจะดีกว่าการต้องใช้อ้อมกอดผีเสื้ออย่างพร่ำเพรื่อ
Comments