ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ | nutavootp@gmail.com
ร้อยกว่าปีก่อน มาร์ค ทเวน เคยกล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์โลกประเภทเดียวที่มีอารมฌ์ขัน การที่ต้องใช้ชีวิตร่วมกันในสังคมทำให้มนุษย์แสดงอารมณ์อื่นนอกจากอารมณ์ขันได้อีกหลายรูปแบบ บางครั้งก็เปลี่ยนไปมา กลายเป็นอารมณ์แปรปรวน ซึ่งดูจะเป็นเรื่องธรรมดาไปเสียแล้วในยุคปัจจุบัน เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงเร็วจนปรับตัวตามไม่ทัน ความเครียดจากปัญหารอบตัว หรือ การพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ การที่ไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ สร้างผลเสียต่อภาวะผู้นำ ความสัมพันธ์และการทำงานกับคนรอบข้าง รวมทั้งนำไปสู่ปัญหาสุขภาพ จากการที่สารเคมีในสมอง หรือ ฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง จนเกิดความไม่สมดุล
บางครั้งอารมณ์แปรปวน ก็อาจกลายเป็นพลังขับเคลื่อนได้ เช่น วินเซนต์ แวนโก๊ะ ศิลปินที่สร้างสรรค์ภาพเขียนมากกว่า 2,000 ชิ้น ส่วนใหญ่ภาพที่โดดเด่นมีชื่อเสียงถูกวาดในช่วงสองปีสุดท้ายของชีวิต ขณะที่กำลังป่วยด้วยโรคซึมเศร้า ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ จนเฉือนหูซ้ายของตัวเอง ช่วงเวลานั้น แวนโก๊ะ กลับสามารถวาดภาพด้วยความเข้าใจคุณสมบัติของสีได้อย่างลึกซึ้ง เช่นเดียวกับนักแสดงที่มากความสามารถอย่าง แจ็ค นิโคลสัน เมื่อสวมบทบาทของโจ้กเกอร์ ก็สามารถนำการขาดเสถียรภาพทางอารมณ์ที่แปรปวนแบบสุดขั้วมาใช้ในเชิงศิลปการแสดงโดยเปลี่ยนบุคลิกของโจ้กเกอร์ จากที่กำลังหัวเราะด้วยความสุข เป็นร้องไห้ได้ในเสี้ยววินาที ได้อย่างสมจริง
ในระบอบประชาธิปไตยคำว่า ‘ความเห็นส่วนใหญ่ของประชาชน’ หรือ ‘Public Opinion’ เป็นการแสดงออกบนพื้นฐานของทัศนคติ ความเชื่อ หรือ ค่านิยม ของประชาชนต่อปัญหาใดปัญหาหนึ่ง ซึ่งต้องใช้เวลาสะสมความรู้ ความเข้าใจในข้อมูล ที่มาของปัญหา จนมีความเห็นสอดคล้องกัน และบางครั้งถ้าผ่านกระบวนการทางกฏหมายความเห็นก็จะกลายเป็น ‘มติมหาชน’ อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ กระแสความคิดเห็นที่เกิดขึ้นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ในชั่วขณะเวลาหนึ่ง อาจจะด้วยข้อเท็จจริงใหม่ หรือ การนำเสนอใหม่ หรือจากผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดใหม่ (Influencer) อาจสร้างกระแสเป็นลูกโซ่ จนบั่นทอนทัศนคติ และความเชื่อ ที่เคยเป็นความเห็นส่วนใหญ่เดิมได้ บางครั้งก็เป็นการเปลี่ยนแปลงชั่วคราว เสมือนอารมณ์ที่แปรปวน แต่ถ้าการเปลี่ยนแปลงพัฒนาต่อไปขยายวงกว้างขึ้น อาจกลายเป็นพลังขับเคลื่อน ทำให้ทัศนคติ และความเชื่อเดิมขาดเสถียรภาพ ซึ่งอาจกระทบลงไปถึงค่านิยมของสังคม จนเกิดการปลี่ยนแปลงที่ถาวรได้เช่นกัน
ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์เชิงพฤติกรรม จะให้ความสำคัญกับการศึกษาผลกระทบทางอารมณ์และความรู้สึกที่มีต่อพฤติกรรมของบุคคลและการตัดสินใจ ถ้ามีจำนวนคนที่อยู่ในอารมณ์เดียวกันแม้จะเกิดขึ้นชั่วคราวจากความรู้สึกร่วมตามกระแส แต่ถ้าสะสมมากขึ้น จนกลายเป็นอารมณ์สาธารณะ (Public Mood) แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ และยังมีความผันผวน ไม่ใช่ความเห็นส่วนใหญ่ของประชาชน แต่ก็สามารถส่งผลกระทบต่อนโยบายระดับประเทศได้ในระยะยาว เช่น ผลการเลือกตั้งที่ผลิกผันในโค้งสุดท้าย ความเห็นต่อดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ ความผันผวนของตลาดเงิน หรือความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เช่น ปัญหาข้อพิพาทระหว่างจีนและญี่ปุ่น ซึ่งเริ่มต้นในเดือนกรกฏาคม 2555 จากการที่รัฐบาลญี่ปุ่นอ้างกรรมสิทธ์เหนือหมู่เกาะเซนกากุ หรือ ที่จีนเรียกว่าหมู่เกาะเตียวหยู ประเด็นขัดแย้งดังกล่าว จากจุดเล็กๆ นำไปสู่อารมณ์สาธารณะร่วม จนทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านสินค้าญี่ปุ่นครั้งใหญ่ในประเทศจีน บานปลายไปถึงธุรกิจการท่องเที่ยว และการย้ายฐานการผลิตซึ่งเป็นผลกระทบระยะยาว
คำถามที่น่าสนใจคือ เราจะเข้าใจอารมณ์ของประชาชน หรือ Public Mood ในขณะที่กำลังเกิดเหตุการณ์ หรือ เกิดประเด็นที่กำลังกลายเป็นกระแสความคิดเห็นสาธารณะ ว่าจะเปลี่ยนแปลงพลิกผันไปในทิศทางใด ได้อย่างไร จะเป็นแค่ชั่วคราว หรือจะสร้างการเปลี่ยนแปลงถาวร ในอดีตคำถามแบบนี้แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะทราบคำตอบ เพราะไม่ทราบกลุ่มเป้าหมายชัดเจน ต้องเสียเวลาในการทำแบบสอบถาม และนำข้อมูลกลับมาวิเคราะห์ซึ่งใช้เวลานานจนไม่สามารถกำหนดนโยบาย หรือแนวทางแก้ไขได้ทัน แต่ปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถช่วยหาคำตอบได้โดยเร็ว เครื่องมือที่ใช้ติดตามสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ข้อความในทวีต จำนวนการติด Hashtag ประเด็นที่กำลังเป็นกระแส การแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์ และใช้โปรแกรม AI วิเคราะห์อารมณ์ของประชาชนที่มีส่วนร่วม (Public Mood Monitoring) แบบ Real time เช่น ระหว่างการหาเสียงบนเวทีของผู้สมัครรับเลือกตั้ง การติดตามข้อมูลที่มีการตอบสนองทันทีบน Facebook Live Chat ช่วยให้ทีมงานของผู้ที่กำลังอภิปรายรับทราบอารมณ์ ความรู้สึกของประชาชน สามารถนำมาปรับเปลี่ยนข้อมูลที่จะชี้แจงบนเวทีให้ผู้อภิปรายได้อย่างเหมาะสมในทันที
ฐานเศรษฐกิจ Online, 2563. “อารมณ์สาธารณะ (Public Mood)”, 11 มีนาคม 2563.
HR Society Magazine, ‘อารมณ์สาธารณะ (Public Mood)’,ธรรมนิติ. Vol. 18, No 210, หน้า 19-24, มิถุนายน 2563
Commentaires