top of page
รูปภาพนักเขียนวสุธร หาญนภาชีวิน

เทคนิคการเขียน Business Case ที่ดีสำหรับ HR Tech ที่จะช่วยพาองค์กรไปอีกขั้น

ทำไมองค์กรจึงควรลงทุน (และลงแรง) ในการนำ HR Tech มาใช้ในองค์กรในตอนนี้ ต้องลงทุนเท่าไร และจะได้ผลตอบแทนอย่างไรบ้าง? นี่ถือได้ว่าเป็นคำถามแรกที่สำคัญมากสำหรับ HR Professionals หรือ Business Leaders ในการวางแผนเปลี่ยนแปลงองค์กร

Business Case คืออะไร? ทำไมต้องมี?

การจะลงมือทำอะไรสักอย่างที่สำคัญ และอาจต้องใช้ทรัพยากรและงบประมาณสูง ซึ่่งจำเป็นต้องมีการรวบรวมและเรียบเรียงข้อมูลที่มีคุณภาพ กำหนดวัตถุประสงค์ ขั้นตอนการดำเนินงาน การลงทุนและการใช้ทรัพยากร และผลลัพธ์ที่คาดหวัง เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้บริหารหรือผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจ เพื่อสร้างความความคาดหวังที่ตรงกันระหว่างผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในการนำ HR Tech มาใช้ในองค์กรให้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ทางธุรกิจและหน่วยงาน มากกว่าการแค่ช่วยลดภาระของฝ่ายบุคคล หรือการนำเสนอฟีเจอร์และฟังก์ชันการใช้งานของระบบเพียงอย่างเดียว และมั่นใจว่าเป็น HR Tech ที่ทุกคนต้องการจริง ๆ เพราะการนำ HR Tech มาใช้ในองค์กรเป็นการเดินทางที่ยาวนาน หากสิ่งที่เลือกไม่มีคุณค่าที่แท้จริงต่อองค์กรแล้ว ก็จะเกิดโอกาสที่จะล้มเลิกหรือไม่ได้รับความร่วมมือมากขึ้น ซึ่งประกอบด้วย


5 ขั้นตอนในการเขียน Business Case สำหรับ HR Tech

Part A: Reasons for change

ขั้นที่ 1: ระบุวัตถุประสงค์ทางธุรกิจ (Strategic Objectives) ลำดับแรก Business Case ที่ดีต้องตอบโจทย์และสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร เช่น องค์กรกำลังจะขยายสาขาใหม่ มีธุรกิจใหม่ หรือมีแผนที่จะลดต้นทุนในการดำเนินงาน ซึ่ง HR Tech ที่กำลังนำเสนอนี้จะช่วยตอบโจทย์และทำให้องค์กรบรรลุวัตถุประสงค์ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งควรมีการระบุไว้ใน Business Case อย่างชัดเจน


ขั้นที่ 2 : กำหนดเหตุผลในการเปลี่ยนแปลง (Reason for Change) ระบุเหตุผลที่องค์กจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลง HR Tech ในองค์กร และเชื่อมโยงไปยังเหตุผลในการนำเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงจากฝ่ายบุคคล เช่น จำนวนพนักงานเกินโควต้าของระบบ ระบบที่ใช้อยู่ไม่รองรับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบัน ระบบของ HR ไม่เชื่อมกับระบบอื่น ๆ ในองค์กร บริษัทที่ให้บริการหลังการขายไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ เป็นต้น


หากองค์กรยังไม่มีระบบตั้งต้นที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ก็สามารถเขียนสาเหตุที่ต้องมีระบบนั้น ๆ ได้ เช่น


> ปรับปรุง Business Metrics ลดต้นทุน เพิ่ม productivity ลดเวลาที่ใช้ในการทำงานจากการทำงานด้วยการมีระบบอัตโนมัติแทนที่การทำงานแบบ manual processes เพื่อให้ HR Professional สามารถนำเวลาไปทำงานเชิงกลยุทธ์ได้มากขึ้น หรือระบบใหม่นี้อาจช่วยเพิ่ม employee engagement หรือส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งจะนำไปสู่ผลประกอบการทางธุรกิจ (เช่น ยอดขายหรือกำไร) ที่เพิ่มขึ้น เป็นต้น


> เพิ่ม Visibility การมีข้อมูลพนักงานที่แม่นยำครบถ้วน และเรียลไทม์ สามารถช่วยในกระบวนการตัดสินใจทางธุรกิจของผู้บริหารและการวางนโยบายของงานบุคคลได้ดีขึ้น

ในกรณีที่มีระบบอยู่แล้ว แต่ต้องการเปลี่ยนแปลง เหตุผลในการเปลี่ยนแปลงเกิดจากปัญหาของระบบปัจจุบัน จะสามารถแบ่งได้เป็น 3 หมวด


> User Interface (รูปลักษณ์หรือวิธีการใช้งานของแพลตฟอร์ม) ไม่น่าดึงดูดให้พนักงานเข้าใช้งาน


> Funcionality ขาดฟังก์ชันที่จำเป็นสำหรับพนักงาน หัวหน้างาน ฝ่ายบุคคล หรือผู้บริหารองค์กร เช่น ระบบ dashboard ระบบ automation หรือการเรียกดูข้อมูลต่าง ๆ


> Access ระบบป้จจุบันไม่เอื้อให้พนักงาน หัวหน้างาน ฝ่ายบุคคล หรือผู้บริหารองค์กร เข้าถึงข้อมูลได้อย่างโปร่งใสและเรียลไทม์ เช่น โควต้าของจำนวนผู้ใช้งานไม่เพียงพอ ระบบไม่รองรับการจำแนกกลุ่มผู้ใช้งาน เป็นต้น


ไม่ว่าเหตุผลจะเป็นอะไร จะต้องตอบคำถามที่ว่า “ทำไมองค์กรถึงต้องเปลี่ยนแปลง?” ได้ชัดเจน มีเหตุผลสนับสนุนที่หนักแน่นเพียงพอ และสอดคล้องกับทิศทางการดำเนินธุรกิจที่ได้ระบุไว้เป็นขั้นตอนแรก


ขั้นที่ 3 : ระบุผลลัพธ์ที่องค์กรจะได้รับ (Success Picture) หากนำ HR Tech มาใช้ได้อย่างประสบความสำเร็จตามภาพที่ทีมงานคิดไว้ องค์กรจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง และวิธีการวัดผลและติดตามอย่างต่อเนื่องตามเหตุผลในการเปลี่ยนแปลง (Reason to Believe) ที่ระบุไว้ข้างต้น


> ปรับปรุง Business Metrics เช่น ลดเวลาในการทำงานของเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคล 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ หรือปฐมนิเทศพนักงานใหม่ได้เร็วขึ้น 40% ในแต่ละเดือน ซึ่งจากการศึกษาของ Sage พบว่า บริษัทขนาดกลางกว่า 50% เลือกลงทุนใน HR Tech เพราะต้องการเพิ่มเวลาให้กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลเพื่อไปทำงานที่มีคุณค่าเพิ่มขึ้น (54%) และเพื่อยกระดับผลการปฏิบัติงานของพนักงานในองค์กร (56%)


> เพิ่ม Visibility เช่น มี Dashboard ให้ผู้บริหารตัดสินใจได้แบบเรียลไทม์ ซึ่งคาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายด้านบุคคลสูงสุด 15% สามารถระบุแผนในการพัฒนากลุ่ม Talent ในองค์กร เพื่อ rotate มาทำโปรเจคใหม่ได้อย่างน้อย 5% ของพนักงานทั้งหมด หรือเติมคนที่มีความสามารถเข้ามาเพิ่มจากภายนอกองค์กรให้ครบตามสัดส่วนตามความต้องการของธุรกิจ (Business Requirement) ภายใน 30 วันหลัง implement ระบบใหม่สำเร็จ เป็นต้น


7 Persuasive Reasons for HR Investment, unleash.ai


Part B : Viability and risk

ขั้นที่ 4: ระบุความเป็นไปได้ (Possibility) ทั้งในเชิงบวกและลบ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นว่า สามารถดำเนินงานต่อได้จริง มีความเสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบต่อองค์กรน้อยที่สุดตามที่ได้วางแผนไว้ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะประสบความสำเร็จ


> Viability ให้ข้อมูลสนับสนุนข้อเสนอ โดยระบุความเป็นไปได้ของการดำเนินการจริง ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างโซลูชันส์ หรือรายชื่อผู้ให้บริการในตลาดในปัจจุบัน ตัวอย่างองค์กรหรือกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จ เป็นต้น ซึ่งอาจประกอบด้วย หัวข้อดังต่อไปนี้

○ ค่าใช้จ่ายตั้งต้น (Initial cost)

○ ค่าใช้จ่ายในการใช้งานต่อเนื่อง (Long-term cost)

○ รีวิวการใช้งานที่ผ่านมา (Feedback reviews)

○ ความง่ายในการใช้งาน (Ease of implementation)

○ ความเชื่อมโยงกับระบบปัจจุบันขององค์กร (Compatibility)


> Risk ให้ข้อมูลความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในองค์กร พร้อมแผนในการป้องกันความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยต้องนำเสนอก่อนที่ผู้บริหารจะสอบถามหรือเกิดความกังวล


ขั้นที่ 5: ระบุแผนการดำเนินโครงการโดยสังเขป (Project Plan) เพื่อแสดงความมุ่งมั่นว่าทีมงานได้วางแผนมาอย่างดีแล้ว รวมถึงมีแผนการทำงานที่ครอบคลุม รองรับภายใต้กรอบระยะเวลา งบประมาณ และทรัพยากรที่กำหนด ซึ่งจะนำเสนอข้อมูลละเอียดขนาดไหน ควรพิจารณาสไตล์ วาระโอกาส และเวลาของผู้บริหารในการพิจารณาหัวข้อนี้ ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่ได้มีเวลาและความจำเป็นในการพิจารณาข้อมูลแผนงานในรายละเอียด จึงควรโฟกัสที่จุดสำคัญ ๆ ของแผนงาน (Key Milestones) ที่จะเป็นขั้นที่จะนำไปสู่ความสำเร็จหรือมีการเปลี่ยนแปลงแผนงานเกิดขึ้น

Part C : Management Buy-In & Approval


ขั้นที่ 6 : หาข้อสรุปและการอนุมัติ ให้ข้อมูลสรุปวัตถุประสงค์ ข้อเสนอทางเลือกที่แนะนำ ผลลัพธ์ และขอรับการอนุมัติอย่างชัดเจนจากผู้บริหารให้ชัดเจน ซึ่งในขั้นตอนนี้ การสร้างความสัมพันธ์กับผู้บริหารไว้ตั้งแต่ต้นเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะเพิ่มโอกาสที่จะสำเร็จ เนื่องจากได้รวบรวมข้อมูลในมุมมองของผู้บริหารไว้ตั้งแต่เริ่มต้น


ลักษณะของ Business Case ที่ดี

1. Quantifiable ไม่ว่าจะเป็นเป้าหมาย ผลลัพธ์ หรือการลงทุน ต้องสามารถคำนวณออกมาเป็นตัวเลขที่จับต้องได้ เพื่อให้สามารถเปรียบเทียบทางเลือกต่าง ๆ ได้อย่างมีนัยยะมากพอที่จะหารือ และอาจมี benchmark ที่เหมาะสมเพื่อตั้งเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ และสามารถติดตามวัดผลได้จริง ไม่ให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนระหว่างกันเพราะไม่ได้คุยเรื่องตัวเลขที่ชัดเจน อย่าลืมว่า คำว่า “สูง” หรือ “ต่ำ” ของแต่ละคนไม่เท่ากัน ในขณะที่ผู้บริหารอาจมองตัวเลขเริ่มต้นที่หลักร้อยล้าน ในขณะที่พนักงานอาจมองเพียงหลักแสน เพราะภาพของการมององค์รวมของธุรกิจและงานในสายงานตนเองที่มี perspective ที่กว้างยาวไม่เท่ากัน


2. Accuracy ข้อมูลที่มานำเสนอควรถูกต้องแม่นยำ หรือถูกคำนวณมาอย่างดี มีหลักการและเหตุผล ที่มาที่ไป แหล่งอ้างอิงที่เชื่อถือได้ มากกว่าการประมาณการณ์จากประสบการณ์ในอดีตของบุคคลใดคนหนึ่งเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะส่วนใหญ่มักจะเป็นของพนักงานที่เป็นคนเขียนรายงานเพียงคนเดียว ซึ่งหลายครั้งไม่ใช่คนที่อยู่หน้างานหรือเห็นปัญหาจริง แต่กลับถูกนำมาตัดสินใจลงทุนเพื่อเปลี่ยนแปลงองค์กร ดังนั้นจึงควรมีกระบวนการรวบรวมและกลั่นกรองข้อมูลอย่างเป็นระบบจากคนมากกว่า 1 ฝ่าย ส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วย

> Tech Expert ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญที่รู้เรื่องเทคโนโลยี เพื่อให้มุมมองในเชิงของเทรนด์เทคโนโลยี หรือความสามารถของเทคโนโลยีในอนาคต รวมถึงในเชิงเทคนิคของการนำมาใช้งานจริงในองค์กร

> HR Expert ตัวแทนคนที่เข้าใจระบบงานบุคคลในปัจจุบันและเทรนด์ในอนาคต

> Employee Representative ให้ข้อมูลในฐานะผู้ใช้งานหรือกลุ่มเป้าหมาย

> Compliance ตัวแทนจากฝ่ายกฎหมายหรือ Compliance เนื่องจากเครื่องมือส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงานและองค์กร จึงจำเป็นต้องมีการขอข้อมูลเงื่อนไขต่าง ๆ เพื่อวางแผนการดำเนินงานล่วงหน้า แต่ต้องไม่ถูกบล็อกความคิดด้วยกฎระเบียบที่จริง ๆ แล้วยังสามารถเปลี่ยนแปลงได้และจำเป็นต้องได้รับการอัปเดตให้ตอบโจทย์องค์กรมากขึ้น


3. Reasonable วัตถุประสงค์ องค์ประกอบ และผลลัพธ์ทั้งหมดจะต้องสอดคล้องกับทิศทางธุรกิจและการดำเนินงานขององค์กรอย่างเหมาะสม และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่องค์กร “จำเป็นต้องมี (Must-Have)” ได้จริง ดังนั้นควรประกอบด้วยเหตุผลสนับสนุน 3-5 ข้อในการขอนำ HR Tech ที่ตอบโจทย์เข้ามาใช้ในองค์กร


4. Actionable ข้อมูลต้องจบด้วยขั้นตอน หรือ action ที่จะนำไปทำต่อได้จริงทันทีหากได้รับการอนุมัติ เช่น มีการระบุชื่อ Potential Supplier หรือชื่อ Project Owner ไว้แล้ว สามารถติดต่อเพื่อหารือเพิ่มเติมได้เลยในขั้นตอนถัดไป เป็นต้น


อย่าลืมว่า การเขียน Business Case เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่จะช่วยให้ผู้บริหารตัดสินใจนำการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ มาสู่องค์กร และให้ทิศทางและความคาดหวังที่ตรงกันกับผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้น การเขียน Business Case ที่มีคุณภาพจะเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารที่มีหลายเรื่องให้จัดการ ดังนั้น การบริหารเวลาในการประชุมก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องเล็กที่อาจเป็นปัจจัยที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงในองค์กรเกิดขึ้นได้จริง เพราะหลายครั้งที่จัดสรรเวลาไม่เพียงพอจนทำให้ตอนจบไม่ได้มีการสรุปกัน ทำให้การดำเนินการล่าช้าจนทีมงานหมดไฟไปก่อน หรือตีความไปว่าไม่ได้รับการอนุมัติ เป็นต้น


หากทีมงานได้วางแผนรวบรวมข้อมูลมาดี ครบถ้วน ตอบโจทย์ธุรกิจ พร้อมให้ตัดสินใจในการลงทุนใน HR Tech ก็เชื่อว่านี่จะเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญในการช่วยให้องค์กรสามารถก้าวไปอีกขั้นได้อย่างประสบความสำเร็จได้จริง
 

อ้างอิง

https://hbsp.harvard.edu/inspiring-minds/how-to-write-a-great-business-case

https://hbr.org/2014/07/the-right-way-to-present-your-business-case

https://www.sage.com/en-gb/blog/how-to-build-hr-investment-business-case/

ดู 484 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page