ดร. ณัฐวุฒิ พงศ์สิริ | Nutavootp@gmail.com
การคิดค้นเครือข่าย World Wide Web (WWW) โดย ทิม เบอร์เนอร์ส ลี แห่งองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป หรือ เซินทร์ ทำให้การใช้อุปกรณ์ดิจิทัลส่งข้อมูลและพูดคุยกับทุกคนบนโลกสามารถทำได้แทบจะในทุกที่ทุกเวลา อินเทอร์เน็ตกลายเป็นแพลตฟอร์มหลักสำหรับการเชื่อมต่อทั่วโลก ยิ่งเทคโนโลยี 5 G กำลังจะถูกนำมาใช้ ความเร็วในการสื่อสารที่เพิ่มมากขึ้นยิ่งทำให้ระยะทางเสมือนหนึ่งกลายเป็นศูนย์ ฟรานเซส เคร์นครอส นักเศรษฐศาสตร์ชาวอังกฤษ ถึงกับกล่าวว่าเราได้อยู่ในยุค ‘The Death of Distance’ หรือ ‘ความตายของระยะทาง’ เนื่องจากสถานที่จะไม่เป็นปัจจัยจำกัดความสามารถของมนุษย์ในการสื่อสารระหว่างกันอีกต่อไป
ในอดีต การสื่อสารไปยังสถานที่ต่างกันล้วนต้องใช้เวลา ตั้งแต่สัญญานควันบนกำแพงเมือง นกพิราบสื่อสาร หรือไปรษณีย์ม้าด่วนข้ามทวีป (Pony Express) ด้วยคุณูปการของการพัฒนาระบบดิจิทัลทำให้การสื่อสารเชื่อมต่อได้ทั่วโลกในเวลาอันรวดเร็ว การปฏิวัติการสื่อสารเป็นการปรับระดับความไม่สมดุลของช่องว่างทางโอกาสระหว่างประชากรในประเทศเจริญแล้วและประเทศกำลังพัฒนา รวมทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก แม้ว่าเทคโนโลยีด้านการสื่อสารจะพัฒนาไปมากจนแทบจะปราศจากอุปสรรคเรื่องระยะทาง แต่การเดินทางของมนุษย์รวมทั้งการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิตและตัวสินค้า ยังคงต้องใช้ทั้งเวลาและค่าจ่ายที่สูง การเชื่อมต่อเส้นทางและการพัฒนาเทคโนโลยีการขนส่งเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ ช่วยการขยายตัวของเมืองและจำนวนผู้อยู่อาศัย การเพิ่มความเร็วในการเดินทางสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินธุรกิจลงได้อย่างมีนัยสำคัญ และทำให้เศรษฐกิจเกิดการขยายตัว เช่นเดียวกับการนำเครื่องจักรไอน้ำมาใช้ในยุคเริ่มต้นการปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งทำให้เกิดการผลิตจำนวนมาก คุณภาพสินค้ามีความสม่ำเสมอและราคาต่อหน่วยถูกลง แนวโน้มเทคโนยีในอนาคตที่จะช่วยให้การเดินทางและการขนส่งเร็วขึ้นไปอีก เช่น รถไฟพลังงานแม่เหล็กแบบยิ่งยวด (Ultra-High-Speed Maglev) หรือ ‘รถไฟบิน (Flying Train)’ พัฒนาโดยบริษัทการบินอวกาศและอุตสาหกรรมของประเทศจีน คาดว่าจะสามารถทำความเร็วได้ถึง 4,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มากกว่าความเร็วเสียงถึง 3.26 เท่า นอกจากนี้ยังมีการเดินทางรูปแบบที่ 5 ถัดจากการเดินทางด้วยรถ เรือ รถไฟ และเครื่องบิน เรียกว่า ไฮเปอร์ลูป ซึ่งเป็นการขนส่งที่ใช้กระสวย (Pod) ส่งไปตามท่อที่มีแรงกดอากาศต่ำจนใกล้สุญญากาศ เพื่อให้มีแรงเสียดทานน้อยที่สุด คาดว่าจะทำความเร็วได้สูงถึง 1,200 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เทียบกับเครื่องบินที่ได้เพียง 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไฮเปอร์ลูปจะเริ่มนำมาใช้ขนส่งผู้โดยสารและสินค้าระหว่างเมืองดูไบและอาบูดาบี ใน ค.ศ. 2021 ซึ่งจะลดเวลาการเดิยทางเหลือเพียง 12 นาทีเท่านั้น และอนาคตเราอาจจะได้ใช้บริการจรวด BFR (Big Falcon Rocket) ของบริษัท SpaceX ที่กำลังพัฒนาในชื่อโครงการ Earth to Earth Rocket สามารถย่นระยะเวลาเดินทางข้ามทวีปเหลือเพียงประมาณ 30 นาที ด้วยการเดินทางแบบโปรเจคไทล์ คล้ายกับขีปนาวุธข้ามทวีป
อย่างไรก็ตาม การเดินทางและการขนส่งที่เร็วขึ้นจนระยะทางเสมือนกลายเป็นศูนย์เช่นเดียวกับการสื่อสารยังไม่สามารถทำได้ในอนาคตอันใกล้ เนื่องจากเทคโนโลยีในการเคลื่อนย้ายมวลสารจากที่หนึ่งแปลงเป็นบางอย่างที่คล้ายกับคลื่นวิทยุ เดินทางผ่านคอนกรีต หรือสิ่งก่อสร้างต่างๆ แล้วประกอบขึ้นใหม่ในอีกที่หนึ่งในชั่วพริบตา ที่เรียกว่า ‘เทเลพอร์ต’ (ย่อมาจาก Teleportation) ต้องอาศัยการพัฒนาองค์ความรู้ระดับอนุภาคควอนตัม ความก้าวหน้าในการย้ายมวลสารที่พอมีเค้าลางให้เห็นอยู่บ้าง เช่น ศาสตราจารย์แอนทัน เซลิงเกอร์ จากมหาวิทยาลัยเวียนนา สามารถเทเลพอร์ตสถานะของอนุภาคย่อยของอะตอม หรือ คิวบิด (Qubits) โดยใช้หลักการพัวพันเชิงควอนตัม (Quantum Entanglement) ทำให้เกิดเป็นคู่อนุภาคคิวบิดใหม่ ที่มีความพัวพันกันแต่แยกกันอยู่ไกลกว่าร้อยกิโลเมตร คู่ของอนุภาคซึ่งมีความพัวพันกันจะมีปฏิกิริยาตอบสนองตามกันในทันทีที่เกิดความเปลี่ยนแปลงกับอนุภาคใดอนุภาคหนึ่ง ไม่ว่าทั้งสองจะอยู่ในตำแหน่งที่ห่างกันเท่าใดก็ตาม การพัวพันของ 2 อนุภาค ช่วยให้สามารถถ่ายโอนข้อมูลได้ทันทีโดยระยะทางที่ห่างกันมีค่าเท่ากับศูนย์ ซึ่งปีที่แล้ว ผาน เจียนเว่ย นักวิทยาศาสตร์จีนประสบความสำเร็จในการส่งข้อมูลด้วยวิธีเทเลพอร์ต เคลื่อนย้ายข้อมูลสถานะของคิวบิดจากพื้นโลกขึ้นไปยังดาวเทียมม่อจื๊อในอวกาศได้ในชั่วพริบตา เป็นการเทเลพอร์ต วัตถุได้ไกลที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยทำ แต่ก็ยังเป็นแค่การถ่ายทอดข้อมูลสถานะของสิ่งต่าง ๆ ไปยังที่ห่างไกลมากกว่าจะเป็นการเคลื่อนย้ายมวลสารทั้งหมดและไปประกอบใหม่โดยตรง เปรียบเสมือนเครื่องส่งแฟ็กซ์ ซึ่งส่งข้อมูลต่าง ๆ ไปพิมพ์ลงบนกระดาษที่ปลายทาง แต่ไม่ได้ส่งกระดาษที่มีข้อมูลต้นฉบับไปถึงยังจุดหมายจริง ๆ นักวิทยาศาสตร์ยังพบว่าการเพิ่มจำนวนคิวบิดยังเป็นเรื่องยาก เนื่องจากการสูญเสียพฤติกรรมเชิงควอนตัมของอนุภาตย่อยอันมีสาเหตุจากการรบกวนภายนอก
ปัจจุบัน มูลค่าการซื้อขายออนไลน์ของโลกอยู่ที่ประมาณ US$ 3.3 Trillion และคาดว่าจะเพิ่มเป็น US$ 4.5 Trillion ใน ค.ศ. 2021 การซื้อขายและชำระเงินผ่านออนไลน์ได้เข้ามาเปลี่ยนวงการค้าปลีกแบบเดิม แต่การส่งมอบสินค้าจากผู้ขายให้ถึงมือผู้ซื้อยังคงต้องพึ่งการขนส่งสินค้า แม้ว่าในยุคดิจิทัลจะมีการนำเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบมาใช้ในการขนส่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดเวลา แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายที่สูง การเดินทางและขนส่งแม้จะด้วยวิธีที่เร็วที่สุดก็ยังดูห่างไกลจาก ‘ความตายของระยะทาง’ ถ้าหากว่าในอนาคตการย้ายมวลสารด้วยวิธีเทเลพอร์ต สามารถทำได้จริงและระยะทางกลายเป็นศูนย์ ประวัติศาสตร์คงต้องบันทึกว่าเศรษฐกิจโลกได้เกิดการขยายตัวแบบก้าวกระโดดอีกครั้ง
ฐานเศรษฐกิจ, 2562. ““เศรษฐกิจโตขยาย … ด้วยความตายของระยะทาง (On the Death of Distance and Economic Development)”, CEO Focus, the Disrupt, 19 กันยายน 2562, pp. 23
HR Society Magazine. “เศรษฐกิจโตขยาย … ด้วยความตายของระยะทาง(On the Death of Distance and Economic Development)”,ธรรมนิติ. Vol. 17, No 202, หน้า 44-47, ตุลาคม 2562
Comments